ทหารพม่าค้านศาลระหว่างประเทศสอบสวนการปราบโรฮิงญา

กองทัพพม่าปฏิเสธข้อเรียกร้องของอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ที่ต้องการดำเนินการสอบสวนอย่างเต็มรูปแบบต่อนายทหารระดับสูงของพม่า ด้วยข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา

ฟาทู เบนซูดา อัยการของ ICC ได้ดำเนินการสอบสวนเบื้องต้นในเดือนกันยายน ต่อเหตุการณ์การปราบปรามของทหารพม่าปี 2560 ที่ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาราว 740,000 คน ต้องอพยพข้ามพรมแดนไปยังบังกลาเทศ หลังจากพวกเขาต้องเผชิญกับการข่มขืน สังหารหมู่ และวางเพลิงเผาหมู่บ้าน จากปฎิบัติการทางทหารของพม่า

เมื่อวันพุธ (26) เบนซูดากล่าวว่าเธอจะผลักดันเรื่องดังกล่าวไปสู่ขั้นตอนถัดไปโดยการยื่นคำร้องต่อผู้พิพากษาศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อเปิดการสอบสวนอย่างเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าการตัดสินใจของผู้พิพากษาจะเกิดขึ้นเมื่อใด

พม่าไม่ได้เป็นรัฐภาคีของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่ศาลได้ตัดสินในเดือนกันยายน ว่าศาลมีขอบเขตอำนาจในการตัดสินคดีต่อการกระทำทารุณที่ถูกกล่าวหาเพราะบังกลาเทศที่ชาวโรฮิงญาอาศัยลี้ภัยอยู่นั้นเป็นสมาชิกศาล

พม่าได้ปฏิเสธคำประกาศของศาลอาญาระหว่างประเทศ และโฆษกทหารได้ยืนยันในจุดยืนดังกล่าวในวันพฤหัสฯ (27)

“ทหารและรัฐบาลไม่ได้เพิกเฉยต่อประเด็นปัญหานี้ และพยยามที่จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่กระทำเหตุล่วงละเมิด พม่ามีคณะกรรมการสอบสวนที่ตรวจสอบเรื่องนี้ และพวกเขา (ICC) ควรเคารพสิ่งที่เรากำลังทำ” โฆษกทหารพม่า กล่าว และว่าการแทรกแซงของ ICC ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อศักดิ์ศรีของพม่าและกองทัพ

รัฐบาลและกองทัพไม่ยอมรับว่ากระทำความผิดในปฏิบัติการกวาดล้าง โดยอ้างว่าการปราบปรามที่เกิดขึ้นเป็นการกำจัดผู้ก่อความไม่สงบโรฮิงญาในรัฐยะไข่

ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า การเข้าแทรกแซงของ ICC นั้นมีความเหมาะสมอย่างยิ่ง

“ทหารได้พิสูจน์ตัวเองว่าไม่มีความประสงค์ และไม่สามารถให้ความยุติธรรมต่ออาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา” เฟรดเดอริก รอว์สกี้ ผู้อำนวยการสำนักงาน ICJ กล่าว

ผู้สืบสวนของสหประชาชาติยังเรียกร้องให้ดำเนินการทางกฎหมายกับนายพลระดับสูงของพม่าจากข้อหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วย

ความคิดเห็น

comments