ศ.ยูนุส จัด Social Business Day 2019 ครั้งแรกในไทย ดันแนวคิด “ธุรกิจเพื่อสังคม”

ศาสตราจารย์ มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล ผู้ริเริ่มแนวคิด Social Business หรือธุรกิจเพื่อสังคม   และ  Yunus Foundation ได้ร่วมกับ ศูนย์ยูนุสเซ็นเตอร์ ณ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Yunus Center at AIT) ศูนย์ยูนุสเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ Thailand Social Business Initiative:TSBI จัดการประชุมระดับโลกSocial Business Day 2019 ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และครั้งที่ 9 ของโลก ระหว่างวันที่ 28-29 มิ.ย. 2562  ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้เกิดชุมชนธุรกิจเพื่อสังคมขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก และเพื่อเป็นเครือข่ายขับเคลื่อนแนวคิด “Social Business” ให้เป็นต้นแบบในการช่วยแก้ปัญหาสังคม หวังตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน  โดยในปีนี้ได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Making Money is Happiness, Making Other People Happy is Super Happiness”(การสร้างรายได้คือความสุข แต่การสร้างความสุขให้คนอื่นคือความสุขที่แท้จริง)สะท้อนและตอกย้ำให้ตระหนักถึงความสุขที่แท้จริง พร้อมตั้งเป้าหมายที่จะร่วมกันแก้ปัญหาที่เป็นประเด็นสำคัญของโลกใน 4 ด้าน ได้แก่ 1. ธนาคารและไมโครไฟแนนซ์ (Banking&Microfinance) 2. มลพิษและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Pollution&Climate Change) 3.ขยะพลาสติกและเศรษฐกิจหมุนเวียน (Plastic Waste&Circular Economy) และ 4. ธุรกิจเพื่อสังคมและการกีฬา (Social Business&Sports) โดยมีองค์กรภาคเอกชนร่วมให้การสนับสนุน อาทิ C asean บางจาก และ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเครือฯเชื่อมั่นในแนวคิด Social Business ที่จะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้และทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนของเครือฯ  

ศาสตราจารย์ มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) เปิดเผยว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการรวมตัวของชุมชนธุรกิจเพื่อสังคมจากนานาประเทศ และเป็นความภาคภูมิใจที่ชุมชนธุรกิจเพื่อสังคมเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และเชื่อมั่นว่าธุรกิจเพื่อสังคมจะนำความเปลี่ยนแปลงสู่สังคมโลก โดยในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค ที่กรุงปารีสในปี 2024 นับเป็นครั้งแรกที่ธุรกิจเพื่อสังคมจะเข้าไปสร้างปรากฏการณ์ใหม่ผ่านพลังของกีฬา พร้อมกันนี้ได้เชิญชวนให้คนรุ่นใหม่ร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมโลก ด้วยการร่วมกันสร้างความเจริญใหม่ หรือ New Civilization ที่ไม่ได้วัดความสำเร็จด้วยสินทรัพย์ หรือ เงินตรา เหมือนในอดีต แต่ความสำเร็จนั้น คือการสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน สังคม และมวลมนุษยชาติ ซึ่งจะสร้างคุณค่าและเป็นความสุขที่แท้จริง

“ประเทศไทยจะเป็นแลนด์มาร์คใหม่ของธุรกิจเพื่อสังคม และเป็นศูนย์กลางอันดับต้นๆของการขับเคลื่อนเรื่อง Social Business ซึ่งการจัดงานที่ประเทศไทยในปีนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรชั้นนำของไทย ทั้ง C-asean และ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ผู้บริหารมีความกระตือรือร้นที่จะผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่” ศาสตราจารย์ มูฮัมหมัด ยูนุสกล่าว

ในการนี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับเกียรติขึ้นกล่าว Closing Ceremony ว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย ที่มีธุรกิจชั้นนำในประเทศไทยกว่า 40 แห่ง ตระหนักถึงความท้าทายในการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน โดยเครือซีพีได้ร่วมกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์ธุรกิจเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน และมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาในประเทศไทย เพื่อผลักดันให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วย ถึงแม้การประสบความสำเร็จในธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องเป็นองค์กรที่ดีมีจริยธรรมและมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ ที่สร้างประโยชน์ให้สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุสได้พิสูจน์มาแล้ว และเครือซีพีมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ควบคู่กับการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายเช่นกัน

“ผมเชื่อมั่นว่าความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายการเยียวยาปัญหาของสังคมโลกร่วมกันได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป”นายศุภชัยกล่าว

วันเดียวกันนี้ นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์  ได้เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ : “ความท้าทายของธุรกิจเพื่อสังคม” กล่าวว่า ธุรกิจเพื่อสังคมเป็นโมเดลเพื่อหาทางออกในการช่วยแก้ปัญหาสังคม โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์มุ่งมั่นแก้ปัญหาที่เป็น pain point ของสังคมยึดแนวทางการรับรู้และความเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาในระดับสังคมอย่างยั่งยืน เช่น เครือฯได้ส่งเสริมการปลูกกาแฟแทนการปลูกข้าวโพดให้คนในชุมชนทางภาคเหนือ เป็นต้น การทำธุรกิจเพื่อสังคมจะต้องเป็นได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม

ทั้งนี้ภายในงานเสวนาได้มีวิทยากรเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความท้าทายในการทำธุรกิจเพื่อสังคม ได้แก่  Parveen Mahmud (Grameen Telecom Trust), Luciano Gurgel (YSB Brazil), Eric Lesueur (VEOLIA) และ Sohel Ahmed (Grameen Shakti) ซึ่งทำให้แนวคิดการทำธุรกิจเพื่อสังคมและสร้างแรงบันดาลใจที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ยั่งยืน

นอกจากนี้ในงานวันแรก (28 มิถุนายน 2562) ได้จัดให้มีการประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆกับ Yunus Thailand ซึ่ง ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นตัวแทนเครือฯร่วมแสดงจุดยืนในการขับเคลื่อนเรื่องธุรกิจเพื่อสังคมในอนาคต ผ่านแพลตฟอร์ม Corporate Action Tank

สำหรับบรรยากาศบนเวทีการประชุมระดับโลก Social Business Day 2019 ได้จัดให้มีการประชุมกลุ่มย่อย (Breakout Session) 9 กลุ่ม การประชุมกลุ่มประเทศ (Country Forum) 7 กลุ่ม การประชุมกลุ่มเยาวชน (Youth Workshop) 6 กลุ่ม และการประชุมคู่ขนานสำหรับภาคการศึกษา (Academia Conference) ในประเด็นเกี่ยวกับ การศึกษา เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร สุขภาวะ การเงิน สิ่งแวดล้อม พลังงานสีเขียว ศิลปวัฒนธรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ธุรกิจเพื่อสังคมกับการกีฬา กิจการขนาดใหญ่กับธุรกิจเพื่อสังคม เทคโนโลยีกับธุรกิจเพื่อสังคม ภาวะผู้นำเยาวชนกับธุรกิจเพื่อสังคม สินเชื่อไมโครไฟแนนซ์กับธุรกิจเพื่อสังคม ฯลฯ

ที่มา cp-enews.com

ความคิดเห็น

comments