ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในบังกลาเทศ ปฏิเสธที่จะกลับพม่าเว้นแต่พวกเขาจะได้รับการยอมรับว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศบ้านเกิด แกนนำโรฮิงญากล่าวกับเจ้าหน้าที่พม่าที่เดินทางเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศวันอาทิตย์ (28) 

การปราบปรามของทหารพม่าที่รุนแรงในปี 2560 ได้ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาราว 740,000 คน ต้องอพยพหลบหนีไปยังเมืองคอกซ์บาซาร์ ของบังกลาเทศ ซึ่งพวกเขาอาศัยอยู่ในค่ายพักที่มีสภาพแออัด และหวาดกลัวว่าจะถูกกดขี่ข่มเหงอีกหากพวกเขาเดินทางกลับพม่า

ผู้สืบสวนสหประชาชาติ กล่าวว่า ปฏิบัติการของพม่าที่รวมทั้งการสังหารหมู่ การข่มขืน และการวางเพลิง ดำเนินการด้วยเจตนาล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว

นับเป็นครั้งที่ 2 ที่เจ้าหน้าที่พม่าเดินทางเยี่ยมค่ายในเมืองคอกซ์บาซาร์ ในความพยายามที่จะโน้มน้าวผู้ลี้ภัยโรฮิงญาเพื่อเริ่มต้นกระบวนการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ หลังจากในเดือน ต.ค. โรฮิงญาปฏิเสธข้อเสนอที่จะเดินทางกลับเมื่อคณะผู้แทนพม่าจัดการหารือกับแกนนำของกลุ่ม

คณะผู้แทนของพม่า ที่นำโดยปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือกับแกนนำโรฮิงญา 35 คน ในเมืองคอกซ์บาซาร์ในวันเสาร์ และวันอาทิตย์ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในค่ายพักต่างๆ

แกนนำโรฮิงญา กล่าวว่า พวกเขาต้องการให้พม่ายอมรับพวกเขาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ พร้อมสิทธิในการเป็นพลเมืองของพม่า ก่อนพวกเขาเดินทางกลับ

“เราบอกพวกเขาว่าเราจะไม่กลับจนกว่าเราจะได้รับการยอมรับว่าเป็นโรฮิงญาในพม่า” ดิล โมฮัมหมัด หนึ่งในแกนนำโรฮิงญาที่เข้าร่วมการหารือ กล่าวกับรอยเตอร์ทางโทรศัพท์

โมฮัมหมัด ยังกล่าวว่า พวกเขาจะไม่กลับพม่าจนกว่าข้อเรียกร้องเรื่องความยุติธรรม การปกป้องคุ้มครองระหว่างประเทศ และความสามารถที่จะกลับไปยังหมู่บ้านและที่ดินดั้งเดิมของพวกเขาได้รับการตอบสนอง

“เราต้องการสิทธิในการเป็นพลเมือง เราต้องการสิทธิของเราทั้งหมด เราไม่ไว้ใจพวกเขา เราจะกลับก็ต่อเมื่อได้รับการคุ้มครองระหว่างประเทศ เราจะกลับไปยังที่ดินของเรา เราไม่ต้องการใช้ชีวิตในค่าย” โมฮัมหมัด กล่าว

เมื่อเดือน พฤศจิกายน ความเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการที่จะเริ่มต้นกระบวนการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศเกิดหยุดชะงักเมื่อไม่มีโรฮิงญาคนใดสมัครใจที่จะกลับพม่า หลังพม่าไม่ตอบรับข้อเรียกร้องเรื่อสิทธิพลเมือง หรือการได้กลับไปอยู่ในพื้นที่ โดยพม่าบอกเพียงกว่าหลังโรฮิงญากลับพม่าจะได้อข้าไปอยู่ในค่ายคัดกรองก่อน

ด้านหน่วยงานผู้ลี้ภัยสหประชาชาติและกลุ่มช่วยเหลือยังแสดงความสงสัยเกี่ยวกับแผนการรับกลับชาวโรฮิงญาของพม่า เนื่องจากพวกเขาวิตกถึงความปลอดภัยของโรฮิงญาเมื่ออยู่ในค่ายลี้ภัยของพม่า

“เราพร้อมที่จะเริ่มส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศได้ทุกเมื่อ แต่สิ่งนี้ขึ้นอยู่กับพม่าที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อให้โรฮิงญาเดินทางกลับไปบ้านเกิดของพวกเขา” อาบุล คาลาม กรรมาธิการสำนักงานผู้ลี้ภัยบังกลาเทศ ระบุ

ความคิดเห็น

comments

By admin