นายกรัฐมนตรี ระบุ อาเซียนพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนกับประชาคมโลกในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศเพื่อประกันความยั่งยืนให้กับอนุชนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ย้ำชัดเรื่องสภาพภูมิอากาศ ไม่มีประเทศใดสามารถต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เพียงลำพัง
สำนักข่าวอิศรารายงานว่าเมื่อวันจันทร์ (23 กันยายน) เวลา 15.45 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมประชุมและกล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศสมาชิกอาเซียน ในการประชุม United Nations Climate Action Summit 2019 สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อาเซียนยินดีต่อการจัด Climate Action Summit ในวันนี้ และชื่นชมเลขาธิการสหประชาชาติที่มีบทบาทนำในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้อาเซียนมีความเปราะบางสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบที่เพิ่มขึ้นก็เป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาค ดังนั้นอาเซียนจึงพยายามดำเนินมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศกับประชาคมโลกในทุกระดับ
ในระดับโลก อาเซียนสนับสนุนความพยายามในการแก้ปัญหาภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดได้เข้าเป็นภาคีความตกลงปารีส และได้ประกาศการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDCs) แล้ว
ในระดับภูมิภาค อาเซียนได้ดำเนินมาตรการยุทธศาสตร์ภายใต้แผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน 2025 เพื่อมุ่งสู่การมี “สภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืน” และชุมชนที่มีภูมิต้านทาน โดยมีเป้าหมายที่สำคัญประกอบด้วย
(1) เป้าหมายด้านการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน อาเซียนได้บรรลุเป้าหมายของภูมิภาคในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ลดความเข้มข้นในการใช้พลังงานมากกว่าร้อยละ 21.9 เมื่อเทียบกับปี 2005 เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้สำหรับปี 2020 และอาเซียนจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวในการลดความเข้มข้นในการใช้พลังงานลงร้อยละ 30 ภายในปี 2025 และได้กำหนดเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 23 ภายในปี 2025 ด้วย
(2) เป้าหมายด้านการขนส่งทางบก อาเซียนมุ่งลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงเฉลี่ยของยานพาหนะใหม่ขนาดเล็กที่จำหน่ายในอาเซียนลงร้อยละ 26 ระหว่างปี 2015 ถึง 2025 นอกจากนี้ อาเซียนจะเสนอและเสริมสร้างมาตรการนโยบายการคลังบนพื้นฐานการประหยัดพลังงานหรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับประเทศ และส่งเสริมการประกาศมาตรฐานการใช้เชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะขนาดเล็กของแต่ละประเทศ เพื่อมุ่งสู่การมีมาตรฐานระดับภูมิภาคในระยะยาว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อาเซียนเน้นความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศกับกลไกสนับสนุน ทั้งในด้านการเสริมสร้างศักยภาพ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการสนับสนุนทางการเงิน วันนี้เป็นโอกาสสำหรับประเทศพัฒนาแล้วในการดำเนินการตามคำมั่นด้านการสนับสนุนทางการเงิน และหวังจะเห็นสัญญาณทางการเมืองที่เข้มแข็งในการเพิ่มเงินทุนสนับสนุนอย่างมั่นคง ประมาณการได้ และยั่งยืน ภายหลังปี 2020 ด้วย
ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรี ย้ำว่าไม่มีประเทศใดที่สามารถต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เพียงลำพัง โดยอาเซียนพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนกับประชาคมโลกในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศเพื่อประกันความยั่งยืนให้กับอนุชนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
จากนั้น นายกรัฐมนตรี โพสต์เฟชบุค ถึงการกล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศสมาชิกอาเซียนว่า “ผมได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของสภาวะสิ่งแวดล้อม และเป้าหมายของอาเซียนที่จะไปสู่การมี “สภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืน” และชุมชนที่มีภูมิต้านทาน โดยเฉพาะเรื่อง ฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นปัญหาสำคัญ มีผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน เราทุกคนต้องร่วมมือกัน”