แล้งจริง!! เขื่อนอุบลรัตน์ เริ่มนำน้ำก้นอ่างฯมาใช้

นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากปริมาณฝนที่ตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยตลอดในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่รับน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ ส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์ น้อยที่สุดในรอบ 53 ปี นับตั้งแต่มีการก่อสร้างเขื่อน โดยปัจจุบันเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยมากเพียง 574 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุอ่างฯ เท่านั้น ในขณะที่ยังคงต้องระบายน้ำ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการรักษาระบบนิเวศ วันละประมาณ 0.65 ล้าน ลบ.ม.

กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารภัยจังหวัดขอนแก่น ร่วมหารือกันถึงแนวทางในการนำน้ำก้นอ่างฯมาใช้ โดยในช่วงฤดูแล้งปี 2562 ต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า (1 พ.ย. 62 – 1 พ.ค. 63) ได้เตรียมนำน้ำกันอ่างฯมาใช้ ตามแผนการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ คาดว่าจะต้องใช้น้ำก้นอ่างประมาณ 190 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะต้องติดตามการบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากปริมาณน้ำที่เหลือในเขื่อนอุบลรัตน์ สามารถสนับสนุนได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ซึ่งการนำน้ำก้นอ่างฯมาใช้ จะไม่กระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของตัวเขื่อนแต่อย่างใด

กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 6 ทำการประเมินน้ำต้นทุนเขื่อนขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัด ภาคอีสานกลาง ได้แก่ ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด เพื่อประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งด้านการอุปโภคบริโภค โดยได้เชิญภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมหารือกัน เพื่อให้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ จัดการประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) เพื่อให้ผู้ใช้น้ำได้หารือแนวทางบริหารจัดการน้ำร่วมกัน พร้อมกับเน้นย้ำให้ทำการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ รวมทั้งต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำ ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้ไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ความคิดเห็น

comments