นักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนได้เรียกร้องการคว่ำบาตรในระดับโลกต่อพม่าเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อวันจันทร์ (9 ธันวาคม) หนึ่งวันก่อนการพิจารณาคดีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จะเริ่มขึ้นที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ในกรุงเฮก
นางอองซานซูจี ผู้นำพม่าและเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพผู้นำรัฐบาลพม่าที่ถูกเจ้าหน้าที่สอบสวนสหประชชาติระบุว่าก่อเหตุกวาดล้างทางชาติพันธุ์ต่อชาวโรฮิงญา ได้เดินทางถึงเนเธอร์แลนด์เมื่อวันอาทิตย์ (8) จะเข้าโต้แย้งเพื่อปกป้องรัฐบาลภายใต้การนำของเธอในช่วง 3 วันของการพิจารณาคดี ซึ่งเริ่มขึ้นหลังจากแกมเบียยื่นฟ้องเมื่อเดือนที่ผ่านมา
สำนักงานของซูจีได้โพสต์ภาพซูจีขณะเดินทางถึงสนามบินสคิปโฮล อัมสเตอร์ดัม ที่เธอได้รับการต้อนรับจากเอกอัครราชทูตพม่าประจำเนเธอร์แลนด์ และจากนั้นเดินทางต่อมุ่งหน้าไปยังกรุงเฮกที่ศาลโลกตั้งอยู่
แกมเบีย ประเทศขนาดเล็กจากแอฟริกาตะวันตก ที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นชาวมุสลิม ได้ยื่นฟ้องพม่าในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนต่อกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาในพม่า
ชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน หนีตายออกจากพม่าในปี 2560 หลังปฎิบัติการทางทหารที่รุนแรงของพม่า ซึ่งสหประชาชาติระบุว่า เป็นปฏิบัติการที่เกิดขึ้นด้วยเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และยังรวมถึงการสังหารหมู่และการข่มขืน
ในช่วง 3 วันของการพิจารณาคดี แกมเบียจะขอให้คณะผู้พิพากษาสหประชาชาติที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกำหนด ‘มาตรการชั่วคราว’ เพื่อปกป้องชาวโรฮิงญาก่อนคดีจะถูกพิจารณาอย่างเต็มรูปแบบ
องค์กร Free Rohingya Coalition ระบุในคำแถลงว่า องค์กรกำลังเริ่มรณรงค์คว่ำบาตรพม่าร่วมกับ 30 องค์กรใน 10 ประเทศ และเรียกร้องให้บริษัท นักลงทุนต่างชาติ องค์กรทางอาชีพและวัฒนธรรมต่างๆ ตัดความสัมพันธ์ทางสถาบันกับพม่า
คำแถลงระบุว่า การคว่ำบาตรมีจุดประสงค์ที่จะทำให้เกิดแรงกดดันทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การทูตและการเมือง ต่อรัฐบาลของนางอองซานซูจี และกองทัพของพม่า