ชาวโรฮิงญาเกือบ 100 คนถูกนำตัวขึ้นศาลในพม่าเผชิญกับข้อกล่าวหาเดินทางออกนอกรัฐยะไขโดยไม่ได้รับอนุญาต นับเป็นการดำเนินการของทางการพม่าที่ถือเป็นการตบหน้าซูจี ที่อ้างกลางศาลโลกว่าปฎิบัติการของพม่ามุ่งไปที่การต่อต้านกลุ่มติดอาวุธ
กลุ่มชาวโรฮิงญา 93 คน ถูกนำตัวขึ้นศาลในวันเดียวกันที่นางอองซานซูจี ผู้นำพม่าเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ ขึ้นแก้ต่างในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรุงเฮก โดยอ้างว่าทหารพม่าใช้ปฎิบัติการที่มุ่งไปที่กลุ่มติดอาวุธ แต่การจับกุมชาวโรฮิงญาล่าสุดชี้ให้เห็นที่การดำเนินการจำกัดสิทธิที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาทุกคน
ตำรวจติดอาวุธเข้าห้ามนักข่าวเข้าไปในศาลของเมืองปะเต็ง (พะสิม-Pathein) โดยอ้างถึงเหตุผลด้านความปลอดภัย ทั้งที่โดยปกติแล้วการพิจารณาคดีเช่นนี้ในพม่ามักอนุญาตให้นักข่าวเข้าสังเกตการณ์
โรฮิงญา 93 คน ถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน บนชายหาดในเขตอิรวดีทางตะวันตกเฉียงใต้ของพม่า หลังทั้งหมดแล่นเรือออกมาจากรัฐยะไข่
ทั้งนี้แม้ชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน หนีตายจากการปราบปรามของทหารพม่าไปยังบังกลาเทศตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 แต่ชาวโรฮิงญาที่ยังเหลืออยู่ในประเทศอีกราว 600,000 คน ก็ถูกจำกัดความเคลื่อนไหวอยู่แต่ในค่ายพักและหมู่บ้านต่างๆ เท่านั้น โดยพวกเขาไม่ได้รับสิทธิในการเดินทาง การศึกษา และการดูแลสุขภาพจากทางการพม่า
หลังการพิจารณาคดี ตะซิน มัต มัต วิน ทนายความ กล่าวกับนักข่าวว่าผู้พิพากษาได้เลื่อนการพิจารณาคดีไปจนถึงวันที่ 20 ธันวาคม และหากพวกเขาถูกตัดสินว่ากระทำผิดจริง พวกเขาจะเผชิญต่อโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี