คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลพม่าเพื่อไต่สวนข้อกล่าวหาการละเมิดต่างๆ ในรัฐยะไข่ในปี 2560 ระบุวันจันทร์ (20) ว่า พวกเขาไม่พบหลักฐานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา
ชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน หลบหนีออกจากรัฐยะไข่ในช่วงการปราบปรามอย่างรุนแรงที่กินเวลานานหลายสัปดาห์ ที่สหประชาชาติกล่าวว่าในช่วงเวลานั้นยังเกิดการรุมโทรมข่มขืน และการสังหารหมู่ ที่ดำเนินการด้วยเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หมู่บ้านหลายร้อยแห่งยังถูกเผาทำลายและถูกรื้อถอนในเวลาต่อมา
คณะกรรมการไต่สวนกล่าวว่า “มีเหตุผลเหมาะสม” ที่จะสรุปว่าสมาชิกของกองกำลังความมั่นคงเป็นหนึ่งในหมู่ผู้กระทำจำนวนมากที่ต้องรับผิดชอบต่อความเป็นไปได้ของการก่ออาชญากรรมสงครามและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงระหว่างการปราบปรามภายใต้การนำของทหารต่อกลุ่มชาวโรฮิงญาในปี 2560
สิ่งเหล่านี้รวมถึง “การฆ่าชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ และการทำลายบ้านเรือนของพวกเขา” คณะกรรมการไต่สวนระบุ
แต่ในคำแถลงของคณะที่ออกพร้อมกับรายงานฉบับเต็มที่มาจากการสัมภาษณ์ชาวบ้านและสมาชิกของกองกำลังความมั่นคง คณะกรรมการได้กล่าวโทษนักรบโรฮิงญาสำหรับการโจมตีด่านตำรวจ 30 จุด จนนำมาซึ่งการปราบปราม และได้อธิบายว่าสถานการณ์ดังกล่าวเป็น “ความขัดแย้งกันทางอาวุธภายในประเทศ”
“มีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ว่าอาชญากรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นภายใต้ความตั้งใจที่จะทำลาย ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนของสัญชาติ ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ หรือกลุ่มศาสนา หรือในสภาพจิตใจอื่นๆ สำหรับการก่ออาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
คำแถลงระบุว่าคณะกรรมการได้ยื่นรายงานต่อรัฐบาลแล้ว แต่ไม่ได้ระบุว่าจะนำออกเผยแพร่สู่ประชาชนหรือไม่
ในบังกลาเทศ ที่ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนที่หลบหนีจากพม่าอาศัยลี้ภัยอยู่นั้น ดิล โมฮัมหมัด แกนนำชาวโรฮิงญาระบุว่ารายงานดังกล่าวเป็นการฟอกตัวให้พ้นผิด
“เราถูกกดขี่ข่มเหงมานานหลายสิบปี พวกเราหลายคนถูกสังหาร ผู้หญิงถูกข่มขืน เด็กๆ ของเราถูกโยนเข้ากองไฟและบ้านของเราถูกเผาเป็นจุล หากมันไม่ใช่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แล้วมันคืออะไร?” โมฮัมหมัด กล่าว
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะออกคำตัดสินในสัปดาห์นี้เกี่ยวกับคำร้องขอมาตรการฉุกเฉินในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ฟ้องร้องพม่า ซึ่งแกมเบียได้ยื่นฟ้องในเดือนพฤศจิกายน กล่าวหาว่าพม่ากระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวโรฮิงญา
คณะกรรมการไต่สวนชุดนี้ ถูกตั้งขึ้นในปี 2561 เมื่อประเทศเผชิญกับเสียงเรียกร้องให้นำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี และรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการที่มีสมาชิกเป็นคนท้องถิ่น 2 คน และต่างประเทศ 2 คน ที่ประกอบด้วยนักการทูตฟิลิปปินส์ และอดีตเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสหประชาชาติ