ด่านพรมแดนเบตง เข้มฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรค ป้องกันหวัดนก-อหิวาต์แอฟริกาสุกร ระบาดเข้าไทย

ด่านพรมแดนอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพิ่มความเข้มฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรค ป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก และโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกร เข้าไทย

วันอังคาร (4 กุมภาพันธ์) ที่ด่านพรมแดน อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ตรงข้ามกับด่านเปิงกาลันฮูลู รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย กรมปศุสัตว์ได้เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังโรคสัตว์สู่สัตว์ และโรคสัตว์สู่คน โดยนายต้นพงศ์ คำพลงาม หัวหน้าด่านกักกันสัตว์นราธิวาส กลุ่มด่านกักกันสัตว์ที่ 9 กรมปศุสัตว์ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์จังหวัดนราธิวาส (พื้นที่รับผิดชอบ 3 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา) พร้อมเจ้าหน้าที่ ทำการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคแก่ยานพาหนะ จากประเทศมาเลเซีย ที่เดินทางเข้ามายังด่านพรมแดนอำเภอเบตง จังหวัดยะลาทุกคัน เพื่อการป้องกันการระบาดของเชื้อไข้หวัดนก และโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกร และเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคมาสู่เมืองไทย ซึ่งปัจจุบันพบการระบาดทั้งหมด 29 ประเทศ แบ่งเป็นทวีปแอฟริกา 5 ประเทศ ทวีปยุโรป 13 ประเทศ และทวีปเอเชีย 11 ประเทศ ได้แก่ จีน มองโกเลีย เวียดนาม กัมพูชา เกาหลีเหนือ ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ติมอร์-เลสเต และอินโดนีเซีย โดยประเทศไทยยังไม่พบการระบาดของโรคดังกล่าว เนื่องจากกรมปศุสัตว์ มีการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยบูรณาการทุกภาคส่วนมาร่วมกันดำเนินการ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร โดยรัฐบาลยกระดับแผนดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ มีการจัดตั้ง War Room ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และมีการซักซ้อมแผนรับมือทุกจังหวัดทั่วประเทศ

โดยเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์นราธิวาส ได้เพิ่มความป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไข้หวัดนก และโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกรจากประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน และห้ามนำเข้านก สุกรเป็น และเนื้อสุกร จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งในส่วนของด่านกักกันสัตว์จังหวัดนราธิวาส ได้ทำการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคอก่ยานพาหนะที่เดินทางเข้ามายังด่านพรมแดนอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ทุกคัน พร้อมให้คำแนะนำความรู้เรื่องโรคและการป้องกัน พร้อมติดป้ายประชาสัมพันธ์ ซึ่งประเทศไทยยังไม่พบการระบาดของโรคดังกล่าว โดยช่วงนี้ต้องขอความร่วมมือผู้ที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ห้ามนำผลิตภัณฑ์ อาหาร ที่มีส่วนผสมของ สุกร สุกรป่า ซากสุกร และซากสุกรป่า จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในราชอาณาจักร เข้ามาอย่างเด็ดขาด หากพบจะต้องมีการตรวจยึด เพื่อนำไปทำลายตามระเบียบของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด

ที่มา สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ความคิดเห็น

comments