วันที่ 3 ของการเปิดด่านรับแรงงานไทยกลับจากประเทศมาเลเซียและมีแรงงานคนไทยตกค้าง 800 คน ไม่มีเงินทำใบรับรองแพทย์หรือ fit to travel
ตามที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัด เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรของคนสัญชาติไทยจากประเทศเพื่อนบ้านผ่านช่องทางในพื้นที่จังหวัดชายแดน โดยกำหนดวันเริ่มอนุญาตให้คนไทยกลับเข้ามาผ่านจุดผ่านแดนถาวรในพื้นที่จังหวัดชายแดน 21 จังหวัด 23 ช่องทาง ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายนเป็นต้นไป โดยกำหนดให้เดินทางได้วันละไม่เกิน 100 คนต่อ 1 ช่องทาง
หลังจากด่านพรหมแดนสุไหงโกลก เปิดด่านอนุญาตให้คนไทยเข้ามา ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2563 ได้มีกลุ่มแรงงานไทยที่ไปทำงานเป็นกุ๊ก อยู่ตามร้านอาหารไทย(ร้านต้มยำ) ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนา อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างทยอยดินทางกลับจากประเทศมาเลเซีย ผ่านทางด่านพรหมแดนสุไหงโกลก อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส สำหรับผู้ที่จะเดินทางกลับเข้ามาต้องมีเอกสารประกอบการเดินทาง ประกอบด้วย ใบรับรองแพทย์ หรือ fit to travel และหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศ ออกโดยสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ไทยประจำประเทศที่พำนัก ซึ่งระบุรายละเอียดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เดินทาง ช่องทางผ่านแดนที่จะเดินทางกลับ
แรงงานคนไทย เปิดเผยว่า ทางด้านด่านรันตูปันยัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ยังคงมีแรงงานตกค้างบริเวณหน้าอีกจำนวนกว่า 800 คน ที่พยายามจะเข้ามาแต่เนื่องจากไม่มีเงินทำใบรับรองแพทย์หรือ fit to travel ทำให้ไม่สามารถผ่านแดนมาได้ วอนเจ้าหน้าที่รัฐเร่งช่วยเหลือเพราะบางคนมีเงินติดตัวไม่ถึง 100 บาท และเด็กๆก็เริ่มไม่มีนมกินแล้ว เพราะว่าที่ผ่านมาประเทศมาเลเซียสั่งประกาศเคอร์ฟิว ทำให้ไม่สามารถไปทำงานได้ทำให้ขาดรายได้ ตอนนี้อยากกลับบ้านมากพร้อมที่จะถูกกักตัว ขอเพียงแค่ให้ได้เข้ามาในประเทศไทย
สำหรับตัวเลขการเดินทางผ่านด่านพรมแดนในวันที่ 3 คือวันที่ 20 เม.ย. ปรากฏว่าบริเวณจุดผ่านแดนถาวรสุไหงโกลก มีคนไทยในมาเลเซียเดินทางเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 44 คน จากรายชื่อที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มีหนังสือแจ้งบัญชีมาทั้งหมด จำนวน 100 คน (จากยอดรวมที่อนุญาตให้เข้าได้ต่อวัน 100 คน) ผู้เดินทางได้เข้ารับการตรวจคัดกรองตามมาตรการเฝ้าระวัง และป้องกัน โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 COVID -19 พร้อมทั้งกักตัวเพื่อสังเกตอาการ 14 วัน Local Quarantine เพื่อสังเกตอาการเริ่มป่วยกลุ่มเสี่ยงโรคโควิด-19 ในพื้นที่ได้เตรียมความพร้อมไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วทั้ง 13 อำเภอ ของจังหวัดนริวาส รวม 102 แห่ง สามารถรองรับได้กว่า 1,639 คน
ข่าว ซาการียา ดอเลาะ จ.นราธิวาส