ชาวมุสลิมโรฮิงญาถูกห้ามมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาถึงของพม่า คำตัดสินที่ถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนประณามว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ และเป็นสิ่งที่แสดงถึง “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ที่เกิดกับชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้
3 พรรคการเมืองที่มีชาวโรฮิงญาเป็นแกนนำพรรคต่างหวังที่จะส่งผู้แทนลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างน้อย 12 คน ในการเลือกตั้งทั่วประเทศในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ตามการระบุขององค์กร Fortify Rights
แต่ทว่าอับดุล ราชีด อายุ 58 ปี สมาชิกพรรคประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน กล่าวกับเอเอฟพี ว่า การสมัครของเขาถูกปฏิเสธโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตในเมืองสิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่
ราชีด กล่าวเสริมว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งให้เหตุผลว่าเป็นเพราะพ่อแม่ของเขาไม่ได้เป็นพลเมืองพม่าเมื่อตอนที่เขาเกิด แม้เขาจะมีหลักฐานว่าพ่อแม่และปู่ย่าตายายของเขาได้รับสถานะพลเมืองในปี 2500 ก่อนเขาเกิด 4 ปีแล้วก็ตาม
“สิ่งนี้ไม่สอดคล้องต่อกฎหมาย โรฮิงญากำลังถูกลดระดับ ทำให้เราไม่สามารถแข่งขันได้” ราชีด กล่าว และว่าเขาจะอุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าว
ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้งเมืองสิตตะเวไม่ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้
ราชีด เปิดเผยเพิ่มเติมว่าพ่อของเขาทำงานเป็นข้าราชการในรัฐบาลพม่ามานานกว่า 30 ปี พยายามที่จะมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2558 แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
“การปฏิเสธนี้เป็นการเลือกปฏิบัติและเกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญาที่ยังดำเนินอยู่ รัฐบาลพม่าต้องยุติการตัดสิทธิการเลือกตั้งของชาวโรฮิงญา” แมทธิว สมิท จาก Fortify Rights กล่าว
ทั้งนี้ความเป็นพลเมืองและสิทธิต่างๆ ของชนกลุ่มน้อยมุสลิมถูกลดทอนลงเรื่อยๆ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
โดยยังมีชาวโรฮิงญาอีกราว 600,000 คน อยู่ในพม่า แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกพิจารณาว่าเป็นพลเมืองของประเทศ และจะไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียง ซึ่งองค์การนิรโทษกรรมสากลอธิบายว่าเป็นลักษณะของ “การแบ่งแยกชนชาติ”
ขณะที่ปฏิบัติการของทหารในปี 2560 ได้ขับไล่ชาวโรฮิงญากว่า 750,000 คน ออกจากประเทศ ที่ต้องอพยพหลบหนีไปอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ และนำมาซึ่งการฟ้องร้องในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ศาลสูงของสหประชาชาติ