“พุทธ&มุสลิม แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง โดยไอแบงก์”

“มนุษย์เป็นผู้สร้าง อยู่ที่เราจะสร้างสะพานเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ หรือสร้างกำแพงเพื่อปิดกั้นตัวเอง” คุณวุฒิชัย สุระรัตน์ชัย กรรมการและผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ยกคำกล่าวของ ดร. มุฮัมมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก ในโอกาสที่เดินทางเยือนประเทศไทย

เมื่อวันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงก์) จัดกิจกรรมเสวนาบนชั้น 16 ของโรงแรมอัลมีรอซ(รามคำแหง) ในหัวข้อ “พุทธ&มุสลิม แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง โดยไอแบงก์” ดำเนินรายการโดย ต่วนอีสการดา ดาโต๊ะมูลียอ

พระราชธรรมนิเทศ(พระพยอม กลฺยาโณ) เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว เข้าร่วมเสวนาผ่านระบบ ZOOM กล่าวบางช่วงว่า “ดอกหมายหลากสี สวยกว่าอกไม้สีเดียว ถ้าต่างฝ่ายต่างถมกันทับกัน แนวคิดที่จะร่วมกันคิดร่วมกันสร้างไม่มี ถ้าเกิดมามีแต่เรื่องขัดแย้งเรียกได้ว่าเสียชาติเกิด ในทางศาสนากิจกรรมละชั่วถือว่าสำคัญที่สุด เราไม่ได้ทำดีก็ขอให้ทำกิจกรรมละชั่วให้เต็มที่ กิจกรรมนี้ต้องร่วมกันทำ ต่างคนต่างทำพลังน้อย ถ้าเราไม่ร่วมกันทำให้สังคมนี้น่าอยู่ เราก็จะอยู่ในสังคมที่ไม่น่าอยู่ เต็มไปด้วยความขัดแย้ง”

อ.อาลี เสือสมิง ที่ปรึกษาธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “เหตุที่ทำให้ผู้คนในดินแดนแถบนี้โดยส่วนใหญ่อยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็น เมื่อเราตัดสินส่วนของสงครามซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากฝ่ายปกครอง ภาคประชาชนถือว่าอยู่กันอย่างสันติสุข ดังกล่าวที่ปรากฎอยู่ในเอกสารชั้นต้นกรุงศรีอยุธยา ในสมัยพระบรมไตยโลกนาถ ที่ระบุถึงชาติพันธุ์ต่างๆ ว่า “อนึ่งพิริยะหมู่ แขก ขอม ลาว พม่า เมง มอญ มะสุมแสง จีน จาม ชวา นานาประเทศทั้งปวง” นอกจากนี้ในสมัยกรุงศรีอยุธยายังมีอาสาหกเหล่าที่จะใช้เป็นทัพหน้า โดยมีสองกลุ่ม อาสาแขก อาสาจาม ที่เป็นมุสลิม จะเห็นว่าภาคประชาชนไม่มีความขัดแย้งกัน

เราต้องแสวงจุดร่วมกัน เช่นกันให้ทานกับคนต่างศาสนิกได้หรือไม่ ท่านนบี(ซ.ล.)ประกาศว่าการทำทานไม่ได้สงวนไว้กับคนมุสลิมเท่านั้น ที่มันมีปัญหาคือกลุ่มที่กล่าวหาโจมตีเช่นว่าไอแบงก์ถ้าคนไม่ใช่มุสลิมมากู้แล้วไม่ส่งจะถูกบังคับให้ละหมาด 5 เวลา มันจะเป็นไปได้หรือ ในเมื่อพนักงานส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ เกือบ 900 คน มีมุสลิมอยู่ 600 กว่าคน มีชาวคริสต์ 7 คน ในอิสลามประกาศชัด ไม่มีการบังคับกันในเรื่องศาสนา”

พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ประธานมูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ(สกพ) กล่าวว่า “สมัยก่อนกว่าคนจะเผยแพร่ความเกลียดชังต้องใช้เวลา 5-7 วัน แต่วันนี้เช่นคนถ่ายภาพอาตมากับอ.อาลี แล้วนำไปเผยแพร่ แล้วบอกว่าดูซิศีลไม่เสมอกันมานั่งเสมอกันได้อย่างไร แล้วอาจะมีข้อความต่อว่าแล้วพระก็กระไรมานั่งให้เขาเทศคู่กันได้ ดังนั้นถ้าเราไม่พัฒนาวิธีคิดของเราให้เข้ากับยุคสมัย ถ้าเราไม่ระวังคนจะสร้างความเกลียดชังได้ง่ายๆ เมื่อคนสร้างความเกลียดชังสร้างกันทุกนาที แต่เราผู้รักสันติภาพประชุมกันปีละครั้งจะสร้างสันติภาพได้อย่างไร ดังนั้นเราต้องมีประสิทธิภาพมากกว่า เราต้องเปิดพื้นที่ใจ เพื่อเปิดพื้นที่จริง

ในเรื่องที่สุดโต่งต้องบอกว่ามีไม่กี่คนที่คิดและทำแบบนั้น แต่บังเอิญว่าปัจจุบันนี้มันมีเครื่องขยายเสียงของคนเหล่านี้มากเกินไป แต่ขณะที่คนที่ใส่ใจเรื่องสันติเราใช้เครื่องขยายเสียงน้อยเกิดไป เช่นเราพูดตอนนี้ในเพจไอแบงก์มียอดคนดูอยู่ 20 กว่าคน ขณะที่คนเผยแพร่ข้อความรุนแรงมันส่งไปไกลมาก ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้เรื่องดีๆ ที่เราคุยกันสื่อสารได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ถ้าเกิดท่านนับถือพุทธศาสนาขอให้รู้ว่า ไม่มีสุขใดเสนอกับความสงบ ไม่ใช่แค่ความสงบในใจแต่ต้องสงบภายนอกด้วย โลกนี้ไม่ว่าศาสนาไหนล้วนแต่ต้องการทำให้โลกสุขสงบ ดังนั้นไม่ควรใช้ศาสนามาเป็นเหตุแห่งการแบ่งแยก ทำร้ายทำลายกัน

ฝากถึงสื่อมวลชนว่าราคาที่เราจะต้องจ่ายเพราะความขัดแย้งเกลียดชังกันมันมากมายมหาศาล เกินกว่าที่อาตมาจะรักตัวเองแล้วไม่ออกมาพูดสิ่งเหล่านี้ได้”

มูซา(โจอี้) เชิญยิ้ม ชาวกานา กล่าวว่า “ความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าคุณจะย้ายไปอยู่ที่ไหนเราก็ยังเป็นมนุษย์ สิ่งที่ทำให้ผมมีวันนี้ ไม่ว่าผมจะอยู่ที่ไหน ผมไม่เคยลืมละหมาด ขอบคุณที่ให้โอกาสและเชื่อมั่นอิสลาม อันดับหนึ่งเรื่องดอกเบี้ยมันหนักมากสำหรับพี่น้องมุสลิมเรา ขอบคุณประเทศไทยที่ให้ผู้อยู่โดยไม่ต้องคิดว่าผมเป็นมุสลิมหรือพุทธ ผมเคยไปอยู่ มาเลเซีย สิงค์โปร สำหรับประเทศไทยไม่ว่าจะอยู่นานแค่ไหนเมื่อเราเอาเรื่องการเมืองออก เราอยู่ที่นี่มีเสรีภาพ อิสระภาพ จนบางครั้งผมลืมที่จะต้องกลับบ้านที่แอฟริกา ที่มากกว่านั้นคือเราเข้าธนาคารอิสลามได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนให้เราอยู่ว่าเราเป็นใคร จิตใจสะอาดไม่ว่าจะไปอยู่ไหนคุณอยู่ได้”

คุณวุฒิชัย สุระรัตน์ชัย กรรมการและผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า “สถานะของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ในภาวะการระบาดของโรคระบาดที่เกิดขึ้นเราก็ไม่ต่างกับทั่วไปที่ผ่านมาเราได้ให้ความช่วยเหลือดูแลลูกค้าซึ่งกระทบกับผลการดำเนินงาน แต่ก็ยังมีกำไรสุทธิ์ประมาณ 300 ล้านหักตั้งสำรองตามกฏหมายเหลือประมาณ 120 ล้าน

ในส่วนของการฟื้นฟูความสัมพันธุ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย จะเป็นโอกาสอันดีของไอแบงก์ที่เป็นธนาคารแห่งเดียวที่ดำเนินธุรกรรมทางการเงินตามระบอบอิสลาม เราคาดว่าการทำธุรกรรมข้ามประเทศจะเป็นโอกาสอันดีของธนาคารอิสลาม รวมถึงการดำเนินการในระบบซะกาต

ใน 2-3 ปีข้างหน้าเราจะเข้าไปช่วยเหลือชุมชนมากขึ้น โดยในปีที่ผ่านมาเราได้ดำเนินการในส่วนของกองทุนซื่อสัตย์ที่เราตั้งเป้าไว้ให้มีมัสยิดกว่า 300 แต่เรามีมัสยิด 481 แห่งเข้าร่วมเพื่อช่วยในการแก้หนี้นอกระบบ ไอแบงก์มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และใช้ได้สำหรับทุกศาสนา”

ชมเสวนาคลิก

ความคิดเห็น

comments