EU ไม่เห็นด้วยการอนุญาติเผาคัมภีร์อัลกุรอานในสวีเดน

สหภาพยุโรปแสดงท่าที “ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง” ต่อการเผาคัมภีร์อัลกุรอานในสวีเดน และเรียกการกระทำดังกล่าวว่า “ก้าวร้าว ไม่สุภาพ และเป็นการยั่วยุอย่างชัดเจน”

“การกระทำนี้ไม่ได้สะท้อนถึงความคิดเห็นของสหภาพยุโรปแต่อย่างใด… การแสดงออกถึงการเหยียดเชื้อชาติ ความเกลียดชังชาวต่างชาติ และการไม่ยอมรับในสิ่งที่เกี่ยวข้องนั้นไม่เป็นที่ยอมรับในยุโรป” แถลงการณ์ระบุ

ถ้อยแถลงของ EU เสริมว่าการเผาคัมภีร์อัลกุรอานนั้นน่าสลดใจยิ่งกว่าในช่วงเวลาที่ชาวมุสลิมกำลังเฉลิมฉลองวันอีดิ้ลอัฎฮา

“สหภาพยุโรปยังคงยืนหยัดเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อ และเสรีภาพในการแสดงออกทั้งในต่างประเทศและในประเทศ ขณะนี้เป็นเวลาที่จะยืนหยัดร่วมกันเพื่อความเข้าใจและความเคารพซึ่งกันและกัน และเพื่อป้องกันไม่ให้บานปลายไปมากกว่านี้” แถลงการณ์ระบุ

EU ยังตั้งข้อสังเกตว่ากำลังติดตามความคืบหน้า หลังในอิรักมีผู้ประท้วงหลายพันคนรวมตัวกันที่หน้าสถานทูตสวีเดนในกรุงแบกแดดเมื่อวันศุกร์เพื่อเรียกร้องให้อิรักยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับสตอกโฮล์ม

Salwan Momika วัย 37 ปีซึ่งหนีจากอิรักไปสวีเดนเมื่อหลายปีก่อน เมื่อต้นสัปดาห์นี้ได้กระทืบคัมภีร์อัลกุรอานก่อนที่จะจุดไฟที่หน้ามัสยิดในกรุงสตอกโฮล์ม

ตำรวจในกรุงสตอกโฮล์มได้อนุญาตให้เขาเผากุรอานหลังจากศาลสวีเดนตัดสินว่าการห้ามเผากุรอานจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการพูด และฝ่ายความมั่นคงไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะห้ามการเผากุรอานดังกล่าว

ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Expressen ของสวีเดนเมื่อวันพฤหัสบดี Momika ปฏิเสธว่าการกระทำของเขาว่าเป็น “อาชญากรรมจากความเกลียดชัง” หรือ “การยุยงต่อกลุ่มใด ๆ” นอกจากนี้เขายังกล่าวอีกว่าเขาตั้งใจที่จะเผาอัลกุรอานอีกเล่มภายใน 10 วันนับจากการเผาครั้งแรกของเขา

ตามคำแถลงบนเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศสวีเดน “รัฐบาลสวีเดนขอปฏิเสธการกระทำที่เกลียดกลัวอิสลามที่กระทำโดยบุคคลในสวีเดน การกระทำนี้ไม่ได้สะท้อนถึงความคิดเห็นของรัฐบาลสวีเดนแต่อย่างใด”

ตำรวจที่คอยคุ้มกันเขาอยู่ได้ควบคุมตัวเขาในข้อหา “ก่อกวนกลุ่มชาติพันธุ์”

Ulf Kristersson นายกรัฐมนตรีสวีเดนกล่าวว่าการกระทำของ Momika นั้น “ถูกกฎหมายแต่ไม่เหมาะสม”

การกระทำของเขาเรียกเสียงประณามอย่างกว้างขวางจากโลกมุสลิมและอาหรับ โดยเรียกทูตของพวกเขากลับ และกระทรวงต่างประเทศที่เรียกตัวเอกอัครราชทูตสวีเดนเพื่อเรียกร้องคำอธิบายและแสดงท่าทีคัดค้าน

กระทรวงการต่างประเทศของซาอุดิอาระเบียออกแถลงการณ์ประณามการเผาอย่างรุนแรง “กระทรวงการต่างประเทศขอแสดงความประณามอย่างรุนแรงต่อการเผาสำเนาอัลกุรอานโดยกลุ่มหัวรุนแรงที่มัสยิดกลางสตอกโฮล์มในสวีเดนหลังการละหมาดอีดิ้ลอัฎฮา”

“การกระทำที่แสดงความเกลียดชังและเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหล่านี้ไม่สามารถยอมรับได้ด้วยเหตุผลใดๆ และเป็นการยุยงให้เกิดความเกลียดชัง การกีดกัน และการเหยียดเชื้อชาติอย่างชัดเจน และขัดแย้งโดยตรงกับความพยายามระหว่างประเทศที่พยายามเผยแพร่คุณค่าของความอดกลั้น ความพอประมาณ และการปฏิเสธลัทธิสุดโต่ง และบ่อนทำลายความเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและรัฐ”

ในส่วนของโมร็อกโกได้เรียกเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำกรุงราบัตมาประท้วง และเรียกเอกอัครราชทูตของตนกลับ ขณะที่จอร์แดนแสดงความไม่พอใจต่อทูตของสวีเดน โดยอธิบายว่าการเผาอัลกุรอานเป็นการแสดงความเกลียดชังและการเหยียดเชื้อชาติ

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังได้เรียกเอกอัครราชทูตของสวีเดนเข้าพบและแสดงความไม่พอใจอย่างมากที่สวีเดนปล่อยให้การจัดกิจกรรมเผากุรอาน ในคำแถลง ดร.อันวาร์ การ์กาช ที่ปรึกษาทางการทูตของประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าวว่า “เป็นการโจมตีความเชื่อในศาสนาอิสลามของเราอย่างโจ่งแจ้งและซ้ำแล้วซ้ำเล่าภายใต้ข้ออ้างเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทำให้ความเกลียดชังยืดเยื้อ”

กระทรวงต่างประเทศของอิรักประณามการตัดสินใจของสวีเดนที่อนุญาตให้ “กลุ่มหัวรุนแรง” เผาอัลกุรอาน โดยกล่าวว่าการกระทำดังกล่าว “จุดไฟความรู้สึกของชาวมุสลิมทั่วโลกและเป็นการยั่วยุที่เป็นอันตราย”

กระทรวงฯ ยังเปิดเผยอีกว่าได้เรียกเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำกรุงแบกแดดเพื่อแจ้งให้ทราบถึง “การประท้วงที่รุนแรง” ของประเทศเกี่ยวกับการตัดสินใจอนุญาตดังกล่าว

รอยับ ตอยยิบ ออโดกัน ประธานาธิบดีตุรกี วิจารณ์สวีเดนที่ปล่อยให้มีการประท้วงเช่นนี้ ซึ่งอาจทำให้โอกาสที่ประเทศนอร์ดิกในการเข้าร่วม NATO อ่อนแอลง

“ในที่สุดเราจะสอนชาวตะวันตกที่หยิ่งยโสว่าการดูถูกชาวมุสลิมไม่ใช่เสรีภาพในการคิด” ออโดกันกล่าวในคำพูดทางโทรทัศน์ “เราจะแสดงปฏิกิริยาของเราในแง่ที่แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จนกว่าจะได้รับชัยชนะอย่างแน่วแน่ต่อองค์กรก่อการร้ายและโรคกลัวอิสลาม”

องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation) ได้เรียกประชุมฉุกเฉินของคณะกรรมการบริหารเพื่อหารือเกี่ยวกับผลที่ตามมาของการเผาอัลกุรอานในสวีเดน

Salman Al-Ansari นักวิจัยทางการเมืองของซาอุดีอาระเบียกล่าวกับ Arab News ว่า “ผมเคยไปสวีเดน มันเป็นประเทศที่สวยงามด้วยผู้คนที่ยอดเยี่ยมที่ให้ความเคารพต่อผู้อื่น

“อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายมากที่กลุ่มหัวรุนแรงบางคนใช้ประโยชน์จากสวีเดนและกฎหมายที่ไม่รัดกุมของประเทศเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก คนสวีเดนเป็นคนใจดีที่สุดเท่าที่ผมเคยพบมา

“ผมมั่นใจอย่างยิ่งว่าคนสวีเดนไม่เห็นด้วยกับคำพูดและการกระทำที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง หากการเผาหนังสือที่มีความสำคัญต่อผู้คน 1.8 พันล้านคนไม่ใช่ความเกลียดชัง แล้วคำพูดและการกระทำที่สร้างความเกลียดชังคืออะไร”

เขาเน้นย้ำข้อกังวลเกี่ยวกับแนวทางการเลือกปฏิบัติเพื่อเสรีภาพในการแสดงออกว่าการตอบสนองของประเทศตะวันตกอาจแตกต่างออกไปหากการประท้วงต่อต้านความเชื่อที่แตกต่างหรือสาเหตุทางการเมือง

พวกเขายืนยันว่าการดูหมิ่นสัญลักษณ์ทางศาสนาของชาวยิว จะต้องเผชิญข้อหาต่อต้านชาวยิว ในทำนองเดียวกันการประท้วงใด ๆ ที่มุ่งเป้าไปที่คนผิวดำจะถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายที่ห้ามการเหยียดเชื้อชาติอย่างแน่นอน

Al-Ansari กล่าวถึง Momika ว่า: “ผู้กระทำความผิดของการกระทำนี้เป็นสมาชิกกลุ่มติดอาวุธในอิรักซึ่งทำงานร่วมกับองค์กรหัวรุนแรงในอิรัก

“และเขายังคงไปเยือนอิรักแม้ว่าเขาจะอ้างว่ากลัวชีวิตของเขาจะเป็นอันตรายจนต้องขอลี้ภัยก็ตาม หากการโกหกต่อการย้ายถิ่นฐานของสวีเดนนั้นไม่เพียงพอที่จะเพิกถอนสถานะผู้ลี้ภัยของเขา แล้วอะไรล่ะ?”

ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน กลุ่มผู้นับถือลัทธิซาตานที่ประกาศตัวเองว่าเป็นซาตานได้โห่ร้องในขณะที่ผู้นำสองคนเปิดงาน SatanCon 2023 ในเมืองบอสตัน ของสหรัฐฯ โดยมีพิธีอย่างเป็นทางการในการละทิ้ง “สัญลักษณ์แห่งการกดขี่” ด้วยการฉีกพระคัมภีร์และ “Thin Blue Line” ธงแทนตำรวจ

Al-Ansari แสดงความคิดเห็นในวิดีโอของ Fox News เกี่ยวกับการกระทำดังกล่าวบน Twitter โดยกล่าวว่า “ในฐานะมุสลิม ข้าพเจ้ากล่าวว่าการกระทำของพวกซาตานต่อศาสนาคริสต์และคัมภีร์ไบเบิลนั้นไม่มีอะไรนอกจากน่าสมเพช น่าขยะแขยง และเต็มไปด้วยความเกลียดชัง ต่อผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย

“การฉีกพระคัมภีร์จะช่วยได้อย่างไร? ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังของลัทธิความเกลียดชังนี้”

ความคิดเห็น

comments