สาคูเป็นพืชตระกูลปาล์มที่สำคัญชนิดหนึ่งในพื้นที่ภาคใต้ ชอบขึ้นในพื้นที่พรุชุ่มน้ำ สามารถนำทุกส่วนของต้นมาใช้ประโยชน์ได้ อาทิ ใบใช้ทำมุงหลังคา ยอดใช้ปรุงอาหาร ลำต้นใช้สกัดทำแป้งมาประกอบอาหาร รวมไปถึงใช้ลำตันในการเลี้ยงสัตว์ อาทิ เป็ดและไก่ ปัจจุบันป่าสาคูถูกภัยคุกคามจากการใช้พื้นที่ในการขุดลอกคูคลอง และแผ่วถางป่าสาคูหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ปาล์มน้ำมันและยางพารา ทำให้ป่าสาคูค่อยๆลดน้อยลง ประชาชนในพื้นที่ตำบลโละจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลัก คือ การกรีดยาง เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ ปลูกผักสวนครัวเป็นอาชีพเสริม โดยการเลี้ยงสัตว์มักใช้วัสดุในท้องถิ่นเพื่อลดต้นทุนการผลิต จึงเกิดกลุ่มเลี้ยงเป็ดเพื่อการอนุรักษ์ป่าสาคูขึ้น กลุ่มเลี้ยงเป็ดเพื่อการอนุรักษ์ป่าสาคูมีสมาชิกทั้งหมด 33 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 9 หมู่บ้านในตำบลโละจูด เลี้ยงเป็ดเฉลี่ยครัวเรือนละ 15 ถึง20 ตัว โดยใช้เศษอาหารที่เหลือจากรับประทานภายในครัวเรือน และใช้ลำต้นของต้นสาคู ซึ่งทำให้ลดต้นทุนในการซื้ออาหารสำเร็จรูป ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ 9 หมู่บ้าน คือ ม.1 ถึง ม. 9 มีรายได้เสริมจากการเลี้ยงเป็ดและไก่ โดยเฉลี่ยครัวเรือนละประมาณ 500 ถึง 1,000 บาท
กลุ่มเลี้ยงเป็ดและไก่เพื่อการอนุรักษ์ป่าสาคู ไม่ใช่แค่สร้างรายได้และสุขภาวะที่ดีให้คนในชุมชน แต่ทำให้ชาวบ้านเกิดทัศนคติที่ดีในการหวงแหนทรัพยากรอย่าง ต้นสาคู ด้วยการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือของชุมชน การให้ชุมชนหยุดรุกป่าและหันมาร่วมเป็นผู้พิทักษ์ สิ่งสำคัญคือชาวบ้านต้องมีความเป็นอยู่ที่ดี มีอาชีพ มีรายได้ที่เหมาะสม ที่ผ่านมาหน่วยปฏิบัติการวิจัยร่วมทางธรรมชาติวิทยาป่าพรุและป่าดิบชื้นฮาลาบาลา จ.นราธิวาส ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ได้เข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงเป็ดและไก่ เพื่อเป็นแหล่งโปรตีนให้กับชุมชน
นอกจากนี้ทาง หน่วยปฏิบัติการวิจัยร่วมทางธรรมชาติวิทยาป่าพรุและป่าดิบชื้นฮาลาบาลา ได้ร่วมกับ สวทช.ยังได้ริเริ่มให้ชาวบ้านหันมาทำการเพาะชำต้นสาคู เพื่อใช้ปลูกทดแทนต้นเดิมที่มีอยู่ หลังจากต้องทำการตัดเป็นท่อนๆ เพื่อนำไปใช้เลี้ยงเป็ดและไก่ มิเช่นนั้นต้นหรือป่าสาคูจะหมดไปโดยปริยาย แต่สิ่งที่ทำให้ป่าสาคูหมดไปจากธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นการตัดทิ้งจากความจำเป็นในการขุดลอกคูคลองที่ต้นสาคูขึ้นกรีดขวางทางระบบน้ำไหลผ่าน ซึ่งหากทุกพื้นที่ถ้าสามารถให้ชาวบ้านหันมาอนุรักษ์ให้เกิดความหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ไม่เฉพาะป่าหรือต้นสาคูก็จะดีไม่น้อย อย่างน้อยปัญหาความแห้งแล้งก็ค่อยๆจะเริ่มดีขึ้นและฤดูกาลต่างๆก็จะคงกลับมาอยู่ในสภาพเดิม
แต่ถึงอย่างไรก็ตามหน่วยปฏิบัติการวิจัยร่วมทางธรรมชาติวิทยาป่าพรุและป่าดิบชื้นฮาลาบาลา ได้ร่วมกับ ทาง สวทช.ก็ยังได้นำงานวิจัยสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เป็นการพัฒนาให้ชาวบ้านมีความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ด้วยการริเริ่มหันมาเรียนรู้ในเรื่องของการเลี้ยงไส้เดือนเป็นอาหารเสริมในการเลี้ยงเป็ดและไก่ และหากมีความขยันขันแข็งสามารถทำเป็นอาชีพหลักเลี้ยงครอบครัวได้ โดยทางเจ้าหน้าที่ สวทช.ได้ริเริ่มให้ชาวบ้านผลิตปุ๋ยไส้เดือนด้วยการนำหรือหาซื้อขี้วัวหรือขี้ม้ามาจำนวน 2 กระสอบ มาทิ้งไว้ในภาชนะซึ่งเป็นปล่องบ่อปูนซิเมนต์ทรงกลม เพื่อให้มูลสัตว์ที่หมักหมมคลายความร้อนออก ประมาณ 2 วัน จากนั้นรดน้ำให้ชุมมีความชื้นพอเหมาะ ใช้ไส้เดือนพันธุ์บลูเวิร์มหรือพันธุ์อแฟริกากัน หรือ รู้จักกันในสายพันธุ์ AF ประมาณ 100 ตัวเลี้ยงลงในมูลสัตว์ที่ใส่ลงในปล่องบ่อประมาณ 1 เดือนเศษ เราจะสังเกตุเห็นไส้เดือนมีความยาวประมาณ 4 นิ้ว ลำตัวส่วนหน้ามีสีแดงหรือสีม่วงเข้ม ลำตัวส่วนหลังจะมีสีแดงหรือสีน้ำตาล แถมมูลสัตว์ที่เราใส่ไปในปล่องบ่อปูนซิเมนต์ จะมีลักษณะฟูเป็นก้อนกลมเล็กๆ ก็เป็นอันว่าปุ๋ยไส้เดือนสามารถนำไปใช้ใส่ต้นไม้ต่างๆได้ รวมไปถึงต้นไม้ประเภทไม้ประดับ อาทิ ต้นบ่อนสีต่างๆได้เลย ซึ่งเมื่อนำมาบรรจุถุงขนาดน้ำหนัก 1 ก.ก.จะจำหน่ายในราคา 15 บาท และขนาดบรรจุถุง 5 ก.ก.จะจำหน่วยในราคา 75 บาท ปัจจุบันจะมีลูกค้าที่ประกอบอาชีพจำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับ จะเดินทางมาซื้อหาที่ หน่วยปฏิบัติการวิจัยร่วมทางธรรมชาติวิทยาป่าพรุและป่าดิบชื้นฮาลาบาลา ซึ่งตั้งอยู่ ม.4 อ.แว้ง จนไม่สามารถผลิตปุ๋ยไส้เดือนทันตามความต้องการ ส่วนไส้เดือนที่เลี้ยงไว้ก็ออกลูกออกหลานจนมีจำนวนมากพอที่นำไปใช้เลี้ยงเป็ดและเลี้ยงไก่ ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้เชื่อว่าชาวบ้านใน 9 หมู่บ้านที่ ต.โละจูด อ.แว้ง ที่ได้หันมาอนุรักษ์ต้นสาคู หากเข้าโครงการเลี้ยงไส้เดือนเป็นอาชีพเสริมในการเลี้ยงเป็ดและไก่ ก็จะสามารถมีอาชีพผลิตปุ๋ยไส้เดือนอีกทางหนึ่งด้วย
ข่าว/ซาการียา/จ.นราธิวาส