สำนักข่าว NBT รายงานว่า นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้กล่าวว่า เดือนรอมฎอนหรือช่วงถือศีลอดเป็นช่วงที่ชาวไทยมุสลิมได้ปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ ซึ่งตามความหมายของศาสนาของอิสลาม คือการงดเว้นการกินอาหาร เครื่องดื่มทุกชนิด รวมไปถึงงดการกระทำที่ไม่เกิดประโยชน์ หรือการกระทำที่ขัดกับคุณธรรม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตกต่อเนื่องเป็นเวลา 1 เดือน ดังนั้นเพื่อเป็นการดูแลสุขภาพ ป้องกันโรค และป้องกันการเจ็บป่วยที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมทั้งป้องกันผลกระทบต่อการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา มีข้อแนะนำการดูแลสุขภาพระหว่างการถือศีลอด ดังนี้
ข้อแนะนำในการกินอาหารเพื่อสุขภาพในช่วงถือศีลอด มีดังนี้
• อาหารมื้อเช้าและอาหารมื้อเย็น ควรเริ่มด้วยอาหารเหลวย่อยง่าย เช่น น้ำหวาน น้ำผลไม้ หรือ ผลไม้ เพื่อให้กระเพาะได้ปรับตัว หลีกเลี่ยงอาหารที่ย่อยยากเพราะจะทำให้กระเพาะอาหารทำงานหนักมากขึ้น
• หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด เพราะจะทำให้กระหายน้ำได้ระหว่างการถือศีลอดในตอนกลางวัน
• อาหารมื้อเย็น ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารมากเกินไป การรับประทานอาหารอย่างรวดเร็ว อาจเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และอาการกรดไหลย้อน
• หลีกเลี่ยงการนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร ควรเว้นอย่างน้อย 2-4 ชั่วโมง
• หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสจัด ทั้งประเภทหวาน มัน เค็ม อาหารที่มีไขมันสูง
สำหรับผู้ป่วยที่ต้องกินยาในช่วงถือศีลอด มีข้อแนะนำวิธีกินยาในระหว่างเดือนรอมฎอน
• ยาทั่วไป ที่กินวันละ 1-2 ครั้ง ก่อนหรือหลังอาหารมื้อเช้า ให้กินก่อนหรือหลังอาหารหัวรุ่ง ยาที่กินก่อนหรือ หลังอาหารมื้อเย็นให้กินก่อนหรือหลังละศีลอด โดยยาที่กินก่อนอาหารเย็นสามารถกินร่วมกับการละศีลอดด้วยอินทผาลัม และน้ำได้ จากนั้นจึงไปละหมาดแล้วกลับมากินอาหารเย็นตามปกติ
• ยาที่กินวันละ 3 ครั้ง ให้เพิ่มตอนก่อนนอน (ประมาณ 22.00 น.) อีก 1 มื้อ
• ยาที่กินวันละ 4 ครั้ง เช่น ยาปฏิชีวนะ ให้กิน 1 เม็ดหลังละศีลอด 1 เม็ดก่อนนอน และ 2 เม็ดหลังมื้ออาหารหัวรุ่ง เพื่อเพิ่มระดับยาในช่วงเช้า หรือเปลี่ยนเป็นยากลุ่มอื่น ๆซึ่งสามารถกินยาวันละ 2 ครั้งได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์
ทั้งนี้ การปรับลดการกินยาควรปรึกษาแพทย์ก่อน ไม่ควรงดยาเองเพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อการรักษา หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ทั้งนี้ หากเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถขอความช่วยเหลือจากศูนย์นเรนทรโทรสายด่วน 1669