คณะทำงานชุดเล็ก “รัฐ-มาราฯ” ชงนำร่องหมู่บ้านหยุดยิง 2 อำเภอนราฯ

มีความคืบหน้ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า การประชุมของคณะทำงานชุดเล็กของคณะพูดคุยฝ่ายไทยกับฝ่าย “มารา ปาตานี” ได้ตกลงเลือก “พื้นที่ปลอดภัย” ระดับหมู่บ้านร่วมกันแล้ว

สำนักข่าวอิศรารายงานว่าเดือนพฤศจิกายน 2558 เป็นเดือนที่ทั้งสองฝ่าย และทางการมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก กำหนดให้มีการพูดคุยคณะใหญ่ครั้งที่ 4 แต่การพบปะต้องถูกเลื่อนออกไปจากด้วยความจำเป็นทางเทคนิคบางอย่าง

ทว่าการประชุมของคณะทำงานชุดเล็กยังคงเกิดขึ้น โดยนัดพบปะกันช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนที่ประเทศมาเลเซีย ฝ่ายไทยมีผู้แทนเดินทางไป 4 คน เป็นข้าราชการทั้งหมด ขณะที่ฝ่าย มารา ปาตานี มี นายมะสุกรี ฮารี เป็นหัวหน้าคณะ

ประเด็นการหารือ คือการจัดทำทีโออาร์ หรือร่างเงื่อนไขและกรอบการพูดคุย รวมทั้งการกำหนด “พื้นที่ปลอดภัย” หรือ Safety Zone ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเบื้องต้นคณะทำงานชุดเล็กของทั้งสองฝ่ายได้ข้อสรุปตรงกันในเบื้องต้นแล้วว่า จะเสนอหมู่บ้านนำร่องใน 2 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส คือ อำเภอบาเจาะ กับ อำเภอเจาะไอร้อง เป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ซึ่งหมายถึงพื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันลดเหตุรุนแรง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “พื้นที่หยุดยิง”

ขั้นตอนหลังจากนี้จะมีการจัดทำ “กลไกร่วม” ในการดูแลพื้นที่ปลอดภัยทั้ง 2 อำเภอดังกล่าว เช่น คณะทำงานตรวจสอบที่มาของเหตุรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใด เป็นต้น จากนั้นจะนำข้อเสนอที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะทำงานชุดเล็ก เข้าสู่ที่ประชุมคณะพูดคุยฯชุดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะมีการนัดพบปะกันในเดือนธันวาคม

สำหรับการกำหนด “พื้นที่ปลอดภัย” เป็น 1 ใน 3 ข้อเสนอเบื้องต้นของคณะพูดคุยฯฝ่ายรัฐบาลไทย คือ 1.สร้างพื้นที่ปลอดภัย 2.พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และ 3.การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ โดยการสร้างพื้นที่ปลอดภัยเป็นกระบวนการหนึ่งของการสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจกันระหว่างคู่ขัดแย้งที่เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยหรือโต๊ะเจรจาสันติภาพ เพื่อทดสอบว่าอีกฝ่ายหนึ่งมีอิทธิพลในระดับไหนในการควบคุมเหตุรุนแรงหรือไม่ พูดง่ายๆ คือ พิสูจน์ว่า “เป็นตัวจริงหรือเปล่า?”

ที่ผ่านมาในการพูดคุยทางลับในอดีต โดยเฉพาะในรัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 ก็เคยมีการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย หรือ “อำเภอหยุดยิง” ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้ว แต่เป็นการกล่าวอ้างหยุดยิงฝ่ายเดียวของกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า พีเอ็มแอลเอ็ม หรือ Patani Malay Liberation Movement (PMLM) ที่มีกลุ่มพูโลในปีกของ นายกัสตูรี่ มาห์โกตา เป็นแกนนำ แต่การประกาศหยุดยิงดังกล่าวไม่ได้รับการตอบรับที่ชัดเจนจากรัฐบาลในขณะนั้น

ขณะที่การพูดคุยสันติภาพในช่วงรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556 ที่ได้เปิดโต๊ะพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็น ก็มีการประกาศลดเหตุรุนแรงร่วมกันในห้วงเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอด ทว่าก็มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นจนมีเสียงวิจารณ์ว่ามาตรการไม่ประสบความสำเร็จ และไม่มีความพร้อม แม้ทางคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยได้รายงานสถิติเหตุรุนแรงว่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญก็ตาม

เป็นที่น่าสังเกตว่า บีอาร์เอ็นซึ่งเป็นแกนนำในการพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทยเมื่อปี 2556 เคยเสนอข้อเรียกร้องให้กำหนด “เขตปลอดอาวุธของเจ้าหน้าที่รัฐ” ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยหากเจ้าหน้าที่จะเข้าพื้นที่ ต้องปลดอาวุธ รวมทั้งไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายพิเศษ และการปิดล้อมตรวจค้นหรือจับกุมบุคคลในเขตดังกล่าวได้ แต่รัฐบาลไทยไม่ตกลง

ขณะที่คณะทำงานชุดเล็กของ “มารา ปาตานี” ยอมรับเงื่อนไขการสร้างพื้นที่ปลอดภัยตามที่คณะทำงานฝ่ายรัฐบาลไทยเสนอ ซึ่งหากทำได้สำเร็จ ก็จะเป็นครั้งแรกที่มีการทดลองนำร่องพื้นที่ปลอดภัยอย่างเปิดเผย เป็นทางการ และมีกลไกรองรับร่วมกัน

ตั้งคณะประสานงานพูดคุยระดับพื้นที่ชุดใหม่

มีความเคลื่อนไหวอีกด้านหนึ่ง คือ การเผยแพร่คำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เรื่องการจัดตั้ง “คณะประสานงานระดับพื้นที่” ในกลไกขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการจัดตั้งคณะประสานงานระดับพื้นที่ชุดใหม่ จำนวน 28 คน มี ผอ.รมน.ภาค 4 (ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 หมายถึงแม่ทัพภาคที่ 4) เป็นหัวหน้าคณะประสานงานฯ และมีหัวหน้าส่วนราชการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมเป็นคณะประสานงานฯ รวมทั้งนักวิชาการอย่าง ศ.ดร.ครองชัย หัตถา นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง และตัวแทนจากภาคประชาสังคมในพื้นที่เข้าร่วม

คณะประสานงานระดับพื้นที่ มีหน้าที่สร้างสภาวะแวดล้อมเพื่ออำนวยต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ ติดตามประเมินสถานการณ์ที่เป็นผลสะท้อนจากการพูดคุยในทุกด้าน และจัดตั้งช่องทางสื่อสารกับผู้แทนกลุ่มผู้เห็นต่าง เมื่อมีข้อตกลงเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการเสริมสร้างความไว้วางใจในพื้นที่เป้าหมาย

ความคิดเห็น

comments