“ชาวบ้าน-รัฐ”ยื่นมือช่วยครอบครัวแวมะนอ หลังปอเนาะญิฮาดถูกยึด

ตั้งแต่ 21 พฤษภาคม 2548 หรือกว่าสิบปีมาแล้วที่ปอเนาะในสวนมะพร้าวแห่งนี้ถูกทางการสั่งปิดการเรียนการสอน ห้องเรียนถูกทิ้งร้างว่างเปล่า บ้านพักนักเรียนหลังเล็กๆ ผุพังไปตามกาลเวลา…

เลขา เกลี้ยงเกลา, นาซือเราะ เจะฮะ ทีมข่าวสำนักข่าวอิศรารายงานว่าพื้นที่ว่างใกล้ๆ กลายเป็นแปลงผัก สวนพริก ที่ถูกปลูกขึ้นเพื่อความอยู่รอดของสมาชิกจำนวน 14 ชีวิตในครอบครัว “แวมะนอ” ที่ยังคงอาศัยอยู่ในบ้าน บริเวณเดียวกับ “ปอเนาะญิฮาด” หรือ “โรงเรียนญิฮาดวิทยา”

15 ธันวาคม 2558 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ ฟ.26/2556 ให้ที่ดินอันเป็นที่ตั้งของโรงเรียน เลขที่ 699 หมู่ 4 ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่สนับสนุนการก่อการร้าย

หลังทราบข่าวร้ายที่เกิดกับปอเนาะ บรรดาศิษย์เก่า หรือนักเรียนที่เคยศึกษาอยู่ที่นี่แล้วต้องออกไปเรียนต่อที่อื่น ตลอดจนเพื่อนบ้านใกล้เคียง และผู้ที่ติดตามข่าวคราว พากันเดินทางเข้าไปถามไถ่ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร ซึ่งทางครอบครัวแวมะนอก็ไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนอะไรได้ เนื่องจากยังไม่เห็นเอกสารคำพิพากษา

ยาวาฮี แวมะนอ ภรรยาของนายดูนเลาะ แวมะนอ อดีตครูใหญ่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นแกนนำบีอาร์เอ็น จนเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ศาลแพ่งพิพากษายึดที่ดิน กล่าวว่า รู้สึกไม่เป็นธรรมกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัว เพราะที่ดินผืนนี้ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของสามี

“เขาเป็นแค่ลูกเขยที่มาเป็นครูใหญ่สอนปอเนาะนี้ เนื่องจากพ่อ (นายบารอเฮง เจะอาแซ) ที่เป็นเจ้าของจริงๆ แก่มากแล้ว จึงให้ก๊ะ (คำเรียกแทนตัวเองของหญิงมุสลิม) แต่งงานแล้วมาดูแลปอเนาะแทนพ่อ ตอนนี้พ่อก็ตายแล้ว ที่ดินจึงตกเป็นของลูกทั้ง 5 คน คือ ก๊ะ, นางปารีเดาะ เจะมะ, นางหามีย๊ะ สาแลหมัน, นายอาดือนัน เจะอาแซ และนายอับดุลเลาะ เจะอาแซ ซึ่งทั้งหมดเป็นพี่น้องกับก๊ะที่มีชื่อร่วมในกรรมสิทธิ์ น.ส.3 ส่วนสามีก๊ะไม่มีสิทธิ์ เขามาเป็นแค่ครูใหญ่” ยาวาฮี กล่าว

ในห้วงเวลาร้ายๆ ก็ยังมีน้ำใจที่หลั่งไหลมาจนทำให้ครอบครัวแวมะนอมีกำลังใจ ยาวาฮี บอกว่า หากกระบวนการยุติธรรมสิ้นสุดแล้วจะมีการยึดที่ดินจริงๆ ก็พร้อมที่จะออกไปอยู่ที่อื่น แต่ชาวบ้านที่นี่ไม่ยอม เพราะต้องการให้ครอบครัวอยู่ที่นี่ต่อไป

“มีคนจะยกที่ดินให้ครอบครัวสร้างบ้าน และจะช่วยสร้างบ้านให้ครอบครัวเราอยู่ที่นี่ต่อไป แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้ไปถึงจุดนั้น เพราะยังมีเวลาอีก 20 กว่าวันที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาล ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับครอบครัวว่าจะทำอย่างไรต่อดี” ยาวาฮี กล่าว

ด้าน บัลยาน แวมะนอ ลูกชายคนที่สามของนายดูนเลาะ บอกว่า ยังไม่ทราบเหตุผลที่แน่ชัดในการยึดที่ดินว่าเป็นความผิดอย่างไร มีความชอบธรรมหรือไม่ โดยในความรู้สึกลึกๆ แล้วยังรับไม่ค่อยได้กับคำสั่งศาล เพราะที่ดินผืนนี้เป็นบ้านเกิด แต่ในทางกฎหมายก็ต้องยอมรับ ทางศูนย์ทนายความมุสลิมแนะนำว่าต้องรออ่านคำพิพากษาที่เป็นเอกสาร

“บ้านที่อยู่ปัจจุบันก็อยู่ในที่ดินผืนนี้ เลี้ยงปลา ปลูกผัก ปลูกพริก กำลังเตรียมพื้นที่ลงต้นกล้าพริก ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ต้องย้ายกันทั้งครอบครัว ผมมีลูกอีก 2 คน และครอบครัวคนอื่นอีก ตอนนี้คิดมาก คิดเต็มหัวว่าจะย้ายไปไหน เพราะไม่มีที่ดินแล้ว”

“เมื่อข่าวถูกยึดที่ดินออกมา ทั้งศิษย์เก่า คนในพื้นที่ และคนที่ติดตามเรื่องนี้มาตลอด ตั้งแต่มีการอายัดโดยปปง. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) จนถึงการสู้คดีในชั้นศาล พากันตกใจกันหมดว่าทำไมต้องมาเกิดเรื่องแบบนี้กับครอบครัวเรา ซึ่งเราก็อธิบายไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องกับพ่อและที่ดินอย่างไร”

“จากการที่เคยเข้าไปสังเกตการณ์ในศาล ทาง ปปง.ตรวจสอบพบว่า พ่อถูกกล่าวหาเชื่อมโยงเป็นผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ ให้มีการฝึกอาวุธ มีหมายจับ แต่ในเรื่องที่ดินไม่เกี่ยวข้องกับพ่อ พ่อเป็นแค่ผู้รับใบอนุญาตให้ทำการเรียนการสอน ที่ดินไม่ใช่ของพ่อ หากพ่อผิดตามกฎหมายต้องไปยึดที่ดินของพ่อ แต่ที่นี่ไม่ใช่ เป็นที่ดินของแม่และพี่น้องของแม่อีก 4 คนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่และไม่ได้มีความผิดทางอาญาอะไร”

บัลยาน เล่าให้ฟังด้วยเสียงเครียดๆ ว่า ตั้งแต่เกิดเรื่อง ก็กระทบกับทุกชีวิตในครอบครัวมาตั้งแต่ปี 2548 สังคมมองว่าเป็นครอบครัวจูแว (นักรบ, นักต่อสู้ โดยนัยหมายถึงขบวนการแบ่งแยกดินแดน) คนจะมาเยี่ยมก็กลัวว่าจะถูกมองไปในทางที่ไม่ดี ทั้งหมดมาจากการที่สื่อนำเสนอข่าวไม่สร้างสรรค์

“เราพยายามบอกเจ้าหน้าที่รัฐมาตลอดว่าที่ดินผืนนี้เป็นของคนอื่น ไม่ใช่ของพ่อ แต่กลับไม่เคยเปิดใจรับฟัง บ้านที่อยู่ตอนนี้มีกัน 3 ครอบครัว 14 คน เราเลี้ยงปลา ปลูกผัก ปลูกพริก กำลังเตรียมพื้นที่ลงต้นกล้าพริก ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ต้องย้ายกันทั้งหมด ตอนนี้คิดมาก คิดเต็มหัวว่าจะย้ายไปไหน เพราะไม่มีที่ดินแล้ว หากโดนยึดที่ดินจริงก็ขอตายที่นี่ ไม่ไปไหน” บัลยาน กล่าว

หนึ่งในกลุ่มคนที่ไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจครอบครัวแวมะนอ คือ นายมะแอ สะอะ หรือ หะยีสะมาแอ ท่าน้ำ อดีตแกนนำขบวนการพูโล ซึ่งเพิ่งได้รับการพักโทษออกมาใช้ชีวิตปกตินอกเรือนจำ

เขาบอกว่า ต้องมาให้กำลังใจทุกคน ขอฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูแล และหวังว่ารัฐบาลคงให้ความยุติธรรมในเรื่องนี้แก่ครอบครัวแวมะนอ เพราะกระบวนการยุติธรรมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ชายแดนใต้ได้สงบสุข

ด้านเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบงานด้านการพัฒนาและอำนวยความยุติธรรมในพื้นที่ กล่าวว่า อะไรที่เป็นเรื่องความเป็นธรรมสำหรับครอบครัวแวมะนอที่รู้สึกว่าขาดไป และข้อมูลของฝ่ายเจ้าหน้าที่ยังมีไม่ครบถ้วน ก็อยากให้ครอบครัวบอกกล่าวมา เจ้าหน้าที่ยินดีให้ความช่วยเหลือเต็มที่ เพราะยังมองเห็นถึงความสำคัญของสถานศึกษา ปอเนาะเป็นโรงเรียนรูปแบบหนึ่งที่ให้ความรู้ ให้การศึกษากับเด็กๆ ในพื้นที่ ช่วยอบรมสั่งสอนเด็กให้เป็นคนดี มองว่าไม่ควรที่จะมีการหยุดการเรียนการสอน อยากให้เป็นสถานศึกษาที่เปิดให้เรียนรู้และอบรมของคนปัตตานี

“ทราบว่าตอนนี้ทางโรงเรียนได้ให้ความสนใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง โครงการพระราชดำริ อยากให้มองว่าเรื่องนี้นำมาเดินต่อได้ รัฐเองก็พยายามให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ที่ผ่านมาพยายามเข้าไปสอบถามถึงความต้องการต่างๆ มาตลอด พร้อมทั้งได้เฝ้าติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะยังมองว่าคณะผู้บริหารชุดเก่าของโรงเรียนได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ผู้ครอบครองที่ดินก็เป็นคนละส่วนกัน อยากให้รอดูสถานการณ์หลังจากนี้ไปอีกสัก 10-15 วัน อาจจะมีข่าวดีๆ เกิดขึ้น” เจ้าหน้าที่ระดับสูงรายนี้ ระบุ

สำนักข่าวอิศรารายงานอีกว่าเหตุผลที่ศาลมีคำสั่ง คือ ที่ดินผืนนี้เป็นทรัพย์สินที่สนับสนุนการก่อการร้าย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เนื่องจากใช้เป็นสถานที่ฝึกของนักรบในขบวนการแบ่งแยกดินแดน ขณะที่ นายดูนเลาะ แวมะนอ อดีตครูใหญ่ของโรงเรียน ก็ถูกทางการฟ้องร้องกล่าวหาในคดีก่อการร้ายและกบฏแบ่งแยกดินแดน

ข้างฝ่ายครอบครัวแวมะนอ นำโดย นางยาวาฮี และ นายบัลยาน แวมะนอ ภรรยาและลูกชายของนายดูนเลาะ แย้งว่าที่ดินอันเป็นที่ตั้งของปอเนาะญิฮาด ซึ่งมีเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 เป็นมรดกที่ตกทอดถึงยาวาฮีและพี่น้องรวม 5 คน ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของนายดูนเลาะซึ่งเป็นเขยเข้ามาแต่งงานกับนางยาวาฮีเท่านั้น

เมื่อที่ดินไม่ใช่ของนายดูนเลาะ แม้นายดูนเลาะจะถูกกล่าวหาหรือตกเป็นจำเลยในคดีก่อการร้ายหรือกบฏแบ่งแยกดินแดนก็ตาม ฉะนั้นทรัพย์สินคือที่ดินผืนนี้ ย่อมไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เนื่องยากนางยาวาฮีและพี่น้องคนอื่นๆ ที่มีชื่ออยู่ในเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ไม่ได้ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยด้วย

กลายเป็นเหตุผล 2 ด้านที่ขัดหรือแย้งกันโดยสิ้นเชิง!

จากการตรวจสอบข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งมีการปรับแก้มาแล้ว 5 ครั้ง พบว่า ได้มีการบัญญัตินิยามคำว่า “ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด” ตามกฎหมายฟอกเงินเอาไว้ดังนี้

(1) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน หรือจากการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้หรือสนับสนุนการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน

(2) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินตาม (1) หรือ

(3) ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินตาม (1) หรือ (2)

ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินตาม (1) (2) หรือ (3) จะมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนสภาพไปกี่ครั้ง และไม่ว่าจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใด โอนไปเป็นของบุคคลใด หรือปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลใด

สำหรับความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา ถูกบัญญัติไว้เป็น “ความผิดมูลฐาน” ลำดับ 8 จาก 21 ความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ

จากนิยามดังกล่าว จะเห็นได้ว่า “ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด” ตาม”กฎหมายฟอกเงินนั้น มีความหมายกว้างกว่า “ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด” ตามประมวลกฎหมายอาญาทั่วไป ซึ่งมุ่งไปที่ตัวทรัพย์อันเป็นความผิดในตัวเอง และทรัพย์ที่ผู้กระทำผิดมีไว้หรือได้มาจากการกระทำความผิดเท่านั้น

สำหรับการดำเนินการของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กับ “ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด” นั้น กฎหมายบัญญัติไว้ว่า หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินใดที่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ให้คณะกรรมการธุรกรรมมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้ชั่วคราวมีกำหนดไม่เกิน 90 วัน และในกรณีจำเป็นหรือเร่งด่วน เลขาธิการ ปปง.จะสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งไปก่อน แล้วรายงานต่อคณะกรรมการธุรกรรมก็ได้ (มาตรา 48)

ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ให้เลขาธิการ ปปง.ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินโดยเร็ว (มาตรา 49)

ส่วนการต่อสู้คดีของผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น กฎหมายผลักภาระการพิสูจน์ให้กับผู้ที่อ้างตัวเป็นเจ้าของทรัพย์สิน โดยมาตรา 50 ระบุว่า ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 49 อาจยื่นคำร้องก่อนศาลมีคำสั่งตามมาตรา 51 (คืนทรัพย์สิน) โดยแสดงให้ศาลเห็นว่า

(1) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือ
(2) ตนเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาโดยสุจริตและตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณะ

อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 51 วรรค 3 กฎหมายก็เขียนล็อคเอาไว้ว่า หากผู้อ้างว่าเป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินตามมาตรา 50 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต แล้วแต่กรณี

แหล่งข่าวจากสำนักงาน ปปง.เปิดเผยว่า การยื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ทรัพย์ ซึ่งเป็นที่ดินที่ตั้งของโรงเรียนญิฮาดวิทยา ตกเป็นของแผ่นดินนั้น ปปง.ให้น้ำหนักไปที่การเป็นทรัพย์ที่ “ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ หรือสนับสนุนการกระทำความผิดมูลฐานฟอกเงิน” ซึ่งเป็นหลักการตามกฎหมายฟอกเงิน โดยเฉพาะการป้องกันการฟอกเงินเพื่อสนับสนุนการก่อการร้าย ส่วนทรัพย์นั้นจะเป็นของใคร เป็นสาระสำคัญน้อยกว่าการที่ทรัพย์นั้นได้ถูกใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด

“กรณีที่ดินของปอเนาะญิฮาด ปปง.มีหลักฐานว่าพื้นที่ตั้งของโรงเรียนถูกใช้เป็นสถานที่ฝึกนักรบของขบวนการแบ่งแยกดินแดน หลักฐานตรงนี้ชัดเจนมาก มีทั้งการฝึกและอยู่อาศัย จึงเข้าหลักเกณฑ์ของกฎหมายว่าด้วยการเป็นทรัพย์ที่ถูกใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ หรือสนับสนุนการกระทำความผิด”

“ส่วนข้อต่อสู้ของผู้ร้องคัดค้าน (ภรรยาและญาติของนายดูนเลาะ) ต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์นั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ฉะนั้นการต่อสู้แต่เพียงว่านายดูนเลาะไม่ได้มีชื่อในเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 แต่เป็นครอบครัวของฝ่ายภรรยา ยังไม่เพียงพอ ต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นด้วยว่า ทรัพย์นั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และยังต้องพิสูจน์ว่าไม่ได้รู้เห็นกับการกระทำความผิดนั้นด้วย” แหล่งข่าวจาก ปปง.ระบุ

ดูเหมือนการต่อสู้คดีที่ดินปอเนาะญิฮาดของครอบครัวแวมะนอ หากมีการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาล จะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เสียแล้ว!

ความคิดเห็น

comments