เลขา OIC เยือนไทย เข้าพบนายก ร่วมสัมมนาสร้างความเข้าใจระหว่างศาสนา

วันอังคาร (12 มกราคม) เวลา 15.30 น.นายอิยาร์ด อามีน มาดานี (Mr. Iyad Ameen Madani) เลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation – OIC) เข้าเยี่ยมคารวะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ พลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญการหารือดังนี้

นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่เลขาธิการ OIC ตอบรับคำเชิญเดินทางมาเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศและเข้าร่วมการสัมมนา Interfaith Dialogue ครั้งนี้ ซึ่งจัดโดยกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับ Research Centre for Islamic History, Art and Culture (IRCICA) ของ OIC เชื่อมั่นว่าการสัมมนาครั้งนี้จะมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างทุกศาสนาและนับเป็นตัวอย่างของความร่วมมือที่สร้างสรรค์ระหว่างประเทศไทยกับ OIC ที่ควรได้รับการส่งเสริมต่อไป

นายกรัฐมนตรีแสดงความพร้อมที่จะมีความร่วมมือที่ครอบคลุมกว้างขวางกับ OIC และองค์กรต่างๆ ของ OIC ในด้านต่างๆ ที่นอกเหนือจากประเด็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในด้านที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ เช่น ด้านสาธารณสุข การเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร และอาหารฮาลาล ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุนและร่วมมือกับ OIC ด้านอุตสาหกรรมฮาลาลและความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ในประเทศมุสลิม
เลขาธิการ OIC แสดงความชื่นชมบทบาทของรัฐบาลไทยที่มีความพยายามและความจริงใจในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ พร้อมให้คำแนะนำว่าควรใช้กลไกทางการเมืองและการเจรจา ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารัฐบาลดำเนินการ 2 แนวทางควบคู่กัน ได้แก่ 1 การส่งเสริมการพัฒนาในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลมุ่งมั่นพัฒนา จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และความปลอดภัยเพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ และ 2 กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเน้นความต่อเนื่องการสร้างความเชื่อมั่นและความชอบธรรมตามกฎหมาย โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1 การสร้างความไว้วางใจ 2 การบรรลุข้อตกลงแนวปฏิบัติสองฝ่าย (Code of Conduct) ที่นำไปสู่การลดการเผชิญหน้า และยุติการใช้ความรุนแรงจากทั้งสองฝ่าย และ 3 การบรรลุฉันทามติของทางออกจากความขัดแย้งด้วยสันติวิธี และจัดทำ Road Map นำไปสู่การยุติปัญหา

โอกาสนี้ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเรื่องการแก้ไขปัญหาโรฮิงญา ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าต้องให้ความสำคัญของการแก้ไขปัญหาที่ต้นทางเช่นกัน โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี อย่างไรก็ดีต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกกลุ่มและทุกภาคส่วนเพื่อให้การแก้ไขปัญหาบรรลุผลสำเร็จ

ความคิดเห็น

comments