รัฐสภาสหภาพยุโรปร้องพม่าคุ้มครองชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญา

รัฐสภาสหภาพยุโรป เรียกร้องให้พม่ายุติสิ่งที่เรียกว่า “การปราบปรามอย่างโหดร้าย” และ “การข่มเหงรังแกอย่างเป็นระบบ” ต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญาในประเทศ

อองซานซูจี ยืนยันเมื่อเดือน พฤษภาคมว่า รัฐบาลใหม่ของเธอตัดสินใจที่จะจัดการต่อความเกลียดชังที่ฝังลึกในรัฐยะไข่ ที่ชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคนถูกจำกัดขอบเขตอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ หลังเกิดคลื่นความไม่สงบที่ดำเนินการโดยชาวพุทธในท้องถิ่นเมื่อปี 2555

แต่ซูจี และฝ่ายบริหารถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากการไม่กล่าวถึงคนกลุ่มนี้มากนัก ที่ชาวพม่าชาตินิยมปฏิเสธการใช้คำจำกัดความว่าโรฮิงญา และตราคนเหล่านี้ว่าเป็น เบงกาลี ที่หมายถึงผู้อพพยผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ

รัฐสภาสหภาพยุโรปแสดงความวิตกต่อประเด็นดังกล่าวด้วยการผ่านมติเรียกร้องให้ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

“รัฐสภาย้ำความวิตกกังวลเกี่ยวกับชะตากรรมของชาวโรฮิงญาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมประมาณ 1 ล้านคน ที่เป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่ข่มเหงมากที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก” มติของรัฐสภา ระบุ

สมาชิกสภารายหนึ่ง กล่าวว่า พม่าต้องยกปัญหานี้ให้เป็นประเด็นเร่งด่วน เพื่อรับรองการเข้าถึงรัฐยะไข่ ที่มีชาวโรฮิงญาราว 120,000 คน อาศัยในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศมากกว่า 80 แห่ง ได้อย่างเสรี และไม่ถูกขัดขวาง สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรม สหประชาชาติ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ผู้สื่อข่าว และผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศ

รัฐสภาสหภาพยุโรป ยังเรียกร้องพม่าให้ประณามอย่างชัดเจนต่อทุกการยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังทางเชื้อชาติ และศาสนา และดำเนินมาตรการ และนโยบายที่จะป้องกันการเลือกปฏิบัติทางตรงและทางอ้อมต่อชาวโรฮิงญาในอนาคต

รายงานของสหประชาชาติ ได้แสดงความวิตกเดียวกันเมื่อไม่นานนี้ อ้างถึงการปฏิเสธการให้สิทธิพลเมือง การบังคับใช้แรงงาน และการล่วงละเมิดทางเพศต่อชาวโรฮิงญา

ความคิดเห็น

comments