จีนอ้าง ‘มีสิทธิ’ จัดตั้งเขตป้องกันทางอากาศในทะเลจีนใต้

ปักกิ่งแถลงในวันพุธ (13 กรกฎาคม) อ้างว่า ตน “มีสิทธิ” ที่จะประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศในย่านทะเลจีนใต้ ขณะเดียวกับที่ประณามคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรในกรุงเฮก, เนเธอร์แลนด์ ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่การกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำยุทธศาสตร์แห่งนี้ของแดนมังกร ว่าเป็นเพียงแค่ “เศษกระดาษ” อีกทั้งระบุว่าคณะตุลาการในคดีนี้ได้รับเงินทองจากฟิลิปปินส์และฝ่ายอื่นๆ

รองรัฐมนตรีต่างประเทศ หลิว เจิ้นหมิน ของจีน ที่เป็นผู้แถลงเรื่องนี้กล่าวว่า จีนจะจัดตั้งเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (air defence identification zone หรือ ADIZ ) ในย่านทะเลจีนใต้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ “ระดับของภัยคุกคามที่เราได้รับ”

ทั้งนี้ ประเทศที่ประกาศจัดตั้ง ADIZ จะกำหนดให้เครื่องบินพลเรือนต่างๆ ที่บินผ่านพื้นที่ดังกล่าว ต้องแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่ควบคุมฝ่ายทหาร

ตามข้อมูลในเว็บไซต์ “วิกิพีเดีย” สารานุกรมสาธารณะออนไลน์ ชาติแรกที่ประกาศจัดตั้ง ADIZ คือสหรัฐฯเมื่อปี 1950 ในปัจจุบันมีประเทศและดินแดนต่างๆ ราว 20 แห่งในโลกประกาศเขตดังกล่าว เป็นต้นว่าญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, อินเดีย, ปากีสถาน, อังกฤษ, แคนาดา, นอร์เวย์, สวีเดน โดยในหลายกรณี เขต ADIZ ที่บางประเทศประกาศใช้ ก็ไม่เป็นที่ยอมรับจากอีกบางประเทศ เป็นต้นว่า จีนตั้งเขต ADIZ ในทะเลจีนตะวันออกเมื่อปี 2013 ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้ประกาศไม่รับรอง

อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศซึ่งเป็นคู่พิพาท ประกาศจัดตั้งเขต ADIZ ขึ้นในดินแดนพิพาทที่กำลังเป็นประเด็นร้อน ย่อมทำให้สถานการณ์เพิ่มทวีความตึงเครียดมากขึ้น

ระหว่างแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่กรุงปักกิ่งในวันนี้ (13) หลิวกล่าวเตือนว่า “อย่าทำให้ทะเลจีนใต้ต้องกลายเป็นแหล่งเริ่มต้นของสงคราม” พร้อมกันยืนยันว่า “จุดมุ่งหมายของประเทศจีนนั้นอยู่ที่การทำให้ทะเลจีนใต้กลายเป็นทะเลแห่งสันติภาพ, มิตรภาพ, และความร่วมมือ”

ทางการจีนยังคงยืนยันการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของตนซึ่งครอบคลุมพื้นที่แทบทั้งหมดของทะเลจีนใต้ และแผ่ไกลไปเกือบถึงชายฝั่งของพวกชาติเพื่อนบ้าน ภายหลังจากศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ได้ประกาศคำตัดสินในวันอังคาร (12) หนุนหลังคำฟ้องของฝ่ายฟิลิปปินส์ที่ว่า การกล่าวอ้างเหล่านี้ไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายใดๆ รองรับ

รองรัฐมนตรีหลิว ก็เรียกคำตัดสินนี้ว่าเป็นเพียง “เศษกระดาษ” อีกทั้งกล่าวหาว่าคณะตุลาการที่วินิจฉัยคดีนี้ของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร “ถูกชักใย”

ตุลาการทั้ง 5 คนซึ่งตัดสินคดีนี้ “หาเงินหาทองได้จากฟิลิปปินส์” หลิวกล่าว และพูดต่อไปว่า “และน่าจะมีคนอื่นๆ อีกซึ่งให้เงินทองแก่พวกเขาด้วย”

เขาแจกแจงว่า ตุลาการ 4 คนมาจากประเทศสมาชิกอียู ขณะที่ผู้เป็นประธานคณะตุลาการ ถึงแม้เป็นชาวกานา แต่ก็พำนักอาศัยอยู่ในยุโรปมายาวนาน

“ตุลาการแบบนี้จะเป็นตัวแทนของอะไรกันล่ะ?” เขาตั้งคำถามแบบที่ผู้ฟังทราบอยู่แล้วว่าเขาอยากให้ตอบว่าอย่างไร และพูดต่อไปว่า “พวกเขาเหล่านี้จะเข้าอกเข้าใจวัฒนธรรมของคนเอเชียหรือ?”

หลิวยังกล่าวหาด้วยว่า ชุนจิ ยาไน ชาวญี่ปุ่นที่เป็นอดีตประธานของศาลระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเล “ได้ชักใยกระบวนการทั้งหมดนี้” จากเบื้องหลังฉาก

ยาไน ซึ่งเคยเป็นเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำเกาหลีใต้และประจำสหรัฐฯมาก่อน ได้ก้าวลงจากตำแหน่งนี้ของเขาในปี 2014

สำหรับศาลระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเล (International Tribunal on the Law of the Sea) ตั้งอยู่ที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี เป็นคนละแห่งคนละสถาบันกับศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration หรือ PCA) ในกรุงเฮก แต่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในเรื่องกฎหมายทะเล เพราะอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UN Convention on the Law of the Sea หรือ UNCLOS) กำหนดไว้ว่า เมื่อมีกรณีพิพาทเกี่ยวกับการปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับนี้ อาจยื่นเรื่องให้ศาล 3 แห่งวินิจฉัยตัดสิน ได้แก่ศาลทั้ง 2 แห่งนี้ และอีกแห่งหนึ่งคือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice หรือ ICJ) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเฮก เช่นเดียวกับ PCA

ปักกิ่งประกาศบอยคอตต์การพิจารณาคดีนี้ของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรมาตั้งแต่ต้น โดยบอกว่าศาลแห่งนี้ไม่มีอำนาจในการตัดสินประเด็นปัญหาต่างๆ เหล่านี้ อีกทั้งพยายามใช้แรงขับดันอันใหญ่โตมหึมาทั้งในทางการทูตและในทางการประชาสัมพันธ์ เพื่อดิสเครดิตศาลแห่งนี้ตลอดจนผลการตัดสินของศาล

หลิวออกมาแถลงข่าวคราวนี้ เนื่องในวาระเปิดตัวเอกสารสมุดปกขาวของรัฐบาลจีนว่าด้วยประเด็นปัญหานี้

เอกสารบอกว่า จีนคือ “ชาติแรกที่ค้นพบ, ตั้งชื่อ, และสำรวจขุดค้นตลอดจนใช้ประโยชน์” จากเกาะต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในทะเลจีนใต้ ตลอดจนน่านน้ำรอบๆ เกาะเหล่านี้”

ข้อความเช่นนี้ขัดแย้งโดยตรงกับคำตัดสินของศาลกรุงเฮกในวันอาคาร (12) ซึ่งบอกว่า “ไม่มีหลักฐานใดๆ เลยที่แสดงให้เห็นว่า ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจีนได้เคยใช้สิทธิเข้าควบคุมแต่ผู้เดียวเหนือน่านน้ำต่างๆ เหล่านี้ หรือเหนือทรัพยากรต่างๆ ในน่านน้ำเหล่านี้”

คณะผู้พิพากษาของศาลแห่งนี้ซึ่งไม่ได้สังกัดยูเอ็น แต่สหประชาชาติให้การหนุนหลัง ระบุในคำตัดสินด้วยว่า กระทั่งว่าถ้าหากมี “สิทธิตามประวัติศาสตร์” ใดๆ ต่อทรัพยากรต่างๆ ในน่านน้ำของทะเลจีนใต้แล้ว สิทธิเหล่านี้ก็ต้องถือว่า “หมดสิ้นลง” เมื่อจีนเข้าร่วมลงนามใน UNCLOS

ด้วยเหตุนี้ จีนจึง “ไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายใดๆ” สำหรับการอ้างกล่าวว่ามีสิทธิตามประวัติศาสตร์เหนือทรัพยากรต่างๆ ซึ่งอยู่ภายในพื้นที่ของสิ่งที่เรียกกันว่า แผนที่เส้นประ 9 เส้น ซึ่งจีนใช้เป็นเส้นขีดแบ่งการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ของตน

นอกจากนั้น คำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรยังระบุว่า จีนไม่มีข้ออ้างเรียกร้องสิทธิที่ฟังขึ้นเอาเลย ต่อพื้นที่ต่างๆ ซึ่งอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์

รองรัฐมนตรีหลิว กล่าวกับผู้สื่อข่าวในวันพุธ (13) ว่า “ผมหวังว่าพวกคุณจะนำเอาคำตัดสินนี้โยนลงไปในถังขยะ หรือไม่ก็เก็บไว้บนหิ้งหนังสือ หรือใส่ตู้เอาไว้ และเก็บมันเอาไว้ที่นั่น”

เขายังเรียกร้องให้ฟิลิปปินส์มาเปิดการสนทนาหารือกับจีนใหม่ โดยมีพื้นฐานอยู่ที่การยอมรับการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ตามประวัติศาสตร์ของจีน

สื่อของทางการจีนในวันพุธ (13) ต่างพากันออกมาประณามคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศว่า มีอคติและไม่มีผลบังคับ อีกทั้งเรียกร้องให้ปักกิ่ง “พิทักษ์ปกป้อง” บูรณภาพแห่งดินแดนของจีน

หนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้า หรือ People’s Daily ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตราหน้าคำตัดสินนี้ตลอดจนคำร้องที่ยื่นเอาไว้ตั้งแต่ยุคคณะบริหารของเบนีโญ อากีโน ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนก่อน เพื่อให้จัดตั้งคณะตุลาการขึ้นมาพิจารณาคดีนี้ว่า “เป็นสิ่งที่มีพวกพลังจากภายนอกคอยชักใยและปลุกปั่นยุแยง”

เหรินหมินรึเป้าบอกด้วยว่า ปักกิ่งจะ “ใช้มาตรการทุกอย่างที่จำเป็น” เพื่อพิทักษ์คุ้มครองอธิปไตยและสิทธิต่างๆ ของตน

ทางด้าน ไชน่าเดลี่ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของทางการจีน ก็แสดงความโกรธเกรี้ยวต่อคำตัดสินนี้ โดยบอกว่าเป็นคำตัดสินที่ “ฟังความข้างเดียวอย่างชวนให้โกรธขึ้ง” และ “มีอคติแฝงอยู่โดยตลอด, ไม่มีความยุติธรรม, และดังนั้นจึงไม่อาจนำมาบังคับปฏิบัติได้”

“แน่นอนทีเดียวว่า ปักกิ่งสมควร และก็จำเป็นที่จะต้องเตรียมตนเองให้พรักพร้อมสำหรับสถานการณ์ต่างๆ อันเลวร้ายที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งรวมถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปะทะขัดแย้งกันทางทหาร” ไชน่าเดลี่บอก

ในระหว่างการประชุมแถลงข่าว รองรัฐมนตรีหลิวก็กล่าวว่า “เรือต่างๆ ของกองทัพเรือจีนกำลังปฏิบัติการอยู่ในทะเลจีนใต้ตามปกติ เพราะว่ามันเป็นทะเลของเรา”

ความคิดเห็น

comments