ภัยแทรกซ้อนไฟใต้เงินสะพัดพันล้าน โยงป่วน 80%

ผลประชามติในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ออกมา “โหวตโน” ทั้งสามจังหวัด ท่ามกลางเสียงระเบิดกว่า 30 ลูก ทำให้คำประกาศของรัฐบาลที่ว่าสถานการณ์ในพื้นที่กำลังดีวันดีคืน ฝ่ายความมั่นคงคุมพื้นที่ได้หมดแล้วนั้น กำลังถูกตั้งคำถาม

ประเด็นทางศาสนาถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ เพราะผลประชามติสะท้อนว่าพี่น้องมุสลิมจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าร่างรัฐธรรรมนูญอย่างน้อย 3 มาตรากระทบกับศาสนาอิสลามและการเรียนการสอนของศาสนา ซึ่งจนป่านนี้ก็ยังไม่มีคำชี้แจงใดๆ จากหน่วยงานที่รับผิดชอบ

ขณะเดียวกันก็มีกระแสคนพุทธเคลื่อนไหวต่อต้านบางเรื่องราวของพี่น้องมุสลิม เช่น คัดค้านการแก้ไขกฎหมายส่งเสริมกิจการฮัจย์ เป็นต้น เหล่านี้ส่งผลให้ปัญหาชายแดนใต้กำลังเคลื่อนไปสู่ปมขัดแย้งใหม่

จากการลงพื้นที่ของ “ทีมข่าวอิศรา” ยังพบประเด็นปัญหาที่ซ้อนทับอยู่ภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบอีกปัญหาหนึ่ง นั่นคือปัญหาภัยแทรกซ้อนจากการค้ายาเสพติด น้ำมันเถื่อน และสินค้าเถื่อนในพื้นที่ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงให้น้ำหนักว่าเป็นต้นตอของสถานการณ์ความวุ่นวายมากถึงร้อยละ 80

นี่จึงเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่หน่วยงานรัฐต้องตีให้แตก…

พ.อ.จตุพร กลัมพสุต หัวหน้าชุดปฏิบัติการภัยแทรกซ้อน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า บอกว่า สถานการณ์ความไม่สงบที่ยืดเยื้อ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีปัญหาอื่นเข้ามาสอดแทรก เรียกว่า “ภัยแทรกซ้อน” ทั้งปัญหายาเสพติด การค้าน้ำมันเถื่อน แรงงานเถื่อน และอาชญากรรมข้ามชาติ

จากการตรวจสอบของฝ่ายความมั่นคงพบว่า ภัยแทรกซ้อนเหล่านี้เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนด้วย โดยพบความเชื่อมโยงครั้งแรกเมื่อปี 2554 หลังจากคนร้ายนำน้ำมันมาเป็นส่วนผสมในวัตถุระเบิด จนทำให้เกิดเปลวไฟ ซึ่งต่างจากการก่อเหตุในอดีต และจากการขยายผลยังพบว่า กลุ่มขบวนการได้ส่วนต่างจากน้ำมันเถื่อน 2 บาทต่อลิตร ทำให้มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 200 ล้านบาท

ธุรกิจมืดไม่ได้มีแค่น้ำมันเถื่อน แต่ยังมีอีกหลายเซคเตอร์ และทำรายได้เป็นล่ำเป็นสันให้กับผู้เกี่ยวข้อง เริ่มจากน้ำมันเถื่อน มีเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบมากกว่า 200 ล้านบาทต่อเดือน, สินค้าหนีภาษี 300 ล้านบาทต่อเดือน, ขบวนการค้ายาเสพติดอีก 200 ล้านบาทต่อเดือน และอื่นๆ รวมกว่า 300 ล้านบาทต่อเดือน ทั้งหมดล้วนเกื้อกูลให้ผู้ก่อเหตุได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ด้วยความที่หน่วยงานความมั่นคงเกาะติดเรื่องน้ำมันเถื่อนมาหลายปี ทำให้ทราบว่าขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนเป็นเครือข่ายใหญ่ เชื่อมโยงเกือบทั้งภาคใต้ ข้ามไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน แต่เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระดมกำลังจัดการเครือข่ายน้ำมันเถื่อนของ นายสหชัย เจียรเสริมสิน หรือ เสี่ยโจ้ ช่วงกลางปี 2557 ไปได้ กระทั่งเสี่ยโจ้หลบหนีคดีจากศาลหายไปในเดือน ต.ค.ปีเดียวกัน ประกอบกับราคาน้ำมันในประเทศลดลง ธุรกิจมืดด้านนี้จึงทรงตัว ไม่เพิ่มปริมาณมากไปกว่าที่ผ่านมา

แต่ธุรกิจมืดด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด การตัดไม้ทำลายป่ายังน่าเป็นห่วง เพราะเชื่อมโยงกับการก่อความไม่สงบทั้งสิ้น

ขอบคุณ สำนักข่าวอิศรา อัญชลี อริยกิจเจริญ เป็นผู้สื่อข่าวสายทหาร สถานีโทรทัศน์ NOW26

ความคิดเห็น

comments