5 เขื่อนใหญ่โคราชยังวิกฤตน้ำน้อย หลังฝนไม่ตกตามคาด

ฝนไม่มาตามนัด! 5 เขื่อนใหญ่โคราชยังวิกฤตน้ำเหลือน้อยไม่ถึง 20% แม้เข้าสู่ฤดูฝนมาหลายเดือนแล้ว ล่าสุดขอ ก.เกษตรฯ เร่งทำฝนหลวงพื้นที่เหนือเขื่อนก่อนเดือดร้อนหนัก ผู้ว่าฯ เรียกประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องด่วนหาแนวทางแก้ไข ขณะทุกเขื่อนบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์มากสุด ขอประชาชนช่วยประหยัด วอนชาวนาเลื่อนการเพาะปลูกออกไปอีก

วันพุธ (24 สิงหาคม) นายชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 เปิดเผยว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ กลาง และเล็กของ จ.นครราชสีมาเหลือน้อยมาก เนื่องจากฝนไม่ตกในพื้นที่เหนือเขื่อนแม้เข้าสู่ฤดูฝนมาหลายเดือนแล้วก็ตามแต่ไม่มีน้ำเติมให้เขื่อนเลย โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำเหลือไม่ถึง 20% ของความจุ

ล่าสุด นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เรียกประชุมด่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมแผนรับมือหากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ได้มีมาตรการออกมา 2 ส่วนเพื่อบริหารจัดการน้ำให้ได้ประโยชน์มากที่สุด โดยมาตรการแรกคือ น้ำฝนที่ตกท้ายเขื่อนและมีเก็บไว้ตามฝายทดน้ำต่างๆ จะส่งให้คลองประปาเป็นหลักเพื่อนำไปใช้ในการผลิตประปา และมาตรการที่ 2 ให้เกษตรกรทำตามข้อตกลงของ JMC คือ หากในเดือน ส.ค.ปริมาณน้ำในเขื่อนแต่ละแห่งมีไม่ถึง 100 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เกษตรกรต้องเลื่อนการเพาะปลูกนาปีออกไปอีกเพราะทางเขื่อนจะไม่มีการส่งน้ำให้

ส่วนการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนโดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ยังคงส่งน้ำให้เพื่อการประปาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและการประปาเทศบาลนครนครราชสีมา รวมกว่า 100 แห่ง วันละ 4-5 ลบ.ม./วินาที หรือวันละ 4-5 แสนลบ.ม. ตามเดิม

นายชิตชนกกล่าวอีกว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าจะมีฝนตกในพื้นที่ของ จ.นครราชสีมา เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.-30 ต.ค. 2559 ประมาณ 70-80% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกระแสลมด้วย ซึ่งหากฝนตกลงมาตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาให้ข้อมูลจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างจากอิทธิพลของพายุ 2 ลูก ประมาณ 200-250 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว สามารถรับน้ำได้ 370 ล้านลบ.ม.จึงจะเต็มอ่าง ฉะนั้นแม้จะมีฝนตกลงมาก็ยังไม่เต็มความจุของอ่างฯ แน่นอน จึงต้องมีการบริหารจัดการน้ำให้เป็นระบบเพื่อมีน้ำใช้ในปีถัดไปเพื่อรอฝนใหม่

นอกจากนี้ จังหวัดได้ร้องขอให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงของกระทรวงเกษตรฯ เร่งทำฝนหลวงในพื้นที่ของ จ.นครราชสีมา โดยได้รับการตอบรับจากหน่วยฝนหลวงว่าจะย้ายฝูงบินเข้ามาเสริมอีก 1 ชุด ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้ เพื่อให้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนไม่ขาดแคลนแน่นอนแต่ขอให้ทุกหน่วยงานและทุกคนช่วยกันประหยัดเพื่อจะได้มีน้ำใช้ไปถึงฤดูต่อไป แม้จะมีน้ำน้อยแต่ทุกเขื่อนพยายามงัดทุกมาตรการมาบริหารจัดการให้น้ำที่มีอยู่น้อยเกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด

ขณะเดียวกัน ทางเขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี ยังคงส่งน้ำให้การประปาเทศบาลนครนครราชสีมาตามปกติ ไม่ได้งดแต่อย่างใด นายชิตชนกกล่าว

ด้านโครงการชลประทานจังหวัดนครราชสีมารายงานสถานการณ์และปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของ จ.นครราชสีมา ล่าสุดจนถึงขณะนี้เขื่อนใหญ่ 5 เขื่อนปริมาณน้ำกักเก็บเหลือน้อยมากแค่ 181.44 ล้าน ลบ.ม.จากปริมาณกักเก็บ 938.49 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 18.45 โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้เฉลี่ยอยู่ที่ 134.7ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 14.38 ของความจุ ประกอบด้วย

1. อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว ซึ่งเป็นแหล่งน้ำหลักผลิตประปาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเทศบาลนครนครราชสีมา รวมกว่า 100 แห่ง มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้รวม 30.97 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 10.62% ของความจุกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งใกล้จุดวิกฤตน้ำก้นอ่างฯ

2. อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย ปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 15.43 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 10 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 155 ล้าน ลบ.ม.

3. อ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 38.83 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 14.49 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 275 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่ส่งให้เทศบาลนครนครราชสีมาผลิตประปา อีก 1 แห่ง ขณะนี้น้ำเหลือน้อยมากจนตอไม้โผล่ให้เห็นอย่างชัดเจน

4. อ่างเก็บน้ำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำใช้การได้ 22.28 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 16.63 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 141 ล้าน ลบ.ม.

และ 5. อ่างเก็บน้ำลำปลายมาศ อ.เสิงสาง มีปริมาณน้ำใช้การได้อยู่ที่ 27.16 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 30.63% จากความจุกักเก็บทั้งหมด 98 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 22 โครงการ มีปริมาณน้ำคงเหลือ 82.86 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 36.19 จากความจุรวม 228.96 ล้าน ลบ.ม. โดยอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง อ.โนนไทย และอ่างเก็บน้ำหนองกก อ.พระทองคำ รวมถึงอ่างบึงกระโตน อ.ประทาย และอ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง อ.เมืองนครราชสีมา แห้งขอดไม่สามารถวัดระดับน้ำได้

ความคิดเห็น

comments