“ดร.สมิทธ ธรรมสโรช” ยอมรับกับรอยเตอร์ ไทยไม่พร้อมรับสึนามิรอบใหม่

หลังจากเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติคลื่นยักษ์สึนามิในปี 2004 คร่าชีวิตไปร่วม 226,000 ราย แต่กลับพบว่าถึงแม้จะครบรอบ 10ปีของการเกิดสึนามิในวันศุกร์(26)ที่จะถึงนี้ 28 ชาติรอบมหาสมุทรอินเดียที่ได้รับผลกระทบยังไม่มีความพร้อมในการรับมือสึนามิครั้งต่อไปถึงแม้จะทุ่มเม็ดเงินร่วมมากกว่า 400 ล้านดอลลาร์ โดย ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ยอมรับกับรอยเตอร์ว่า “หากเกิดสึนามิขึ้นฉับพลันในวันนี้ ไม่มีทางที่ไทยจะสามารถรับมือได้ทันท่วงที”
d3807
เนื่องในโอกาสครบรอบ 10ปีเกิดภัยพิบัติสึนามิที่กำลังจะมาถึงในวันศุกร์(26)นี้ รอยเตอร์ตั้งคำถามถึงความพร้อมในระบบเตือนภัยสึนามิที่อาจเกิดซ้ำรอยรอบใหม่ในมหาสมุทรอินเดีย และพบว่าชาติต่างๆที่เคยได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาตินี้ต่างยังไม่มีความพร้อมในการรับมือทันทีถึงแม้ทั้ง 28 ชาติจะทุ่มเม็ดเงินมหาศาลร่วมกันไม่ต่ำกว่า 400 ล้านดอลลาร์ก็ตาม โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสึนามิในไทย อินโดนีเซีย อินเดีย และองค์การสหประชาชาติต่างชี้ว่า เกิดมาจากระบบข้าราชการในประเทศเหล่านี้ที่ทำให้เกิดความล่าช้า การจัดการผิดพลาด มีการคอรัปชัน รวมไปถึงปัญหาด้านภูมิประเทศ ทำให้ระบบการเตือนภัยสึนามิในประเทศต่างๆยังใช้ไม่ได้ผล

ฮาร์กูติ ราฮายู (Harkunti Rahayu) ผู้เชี่ยวชาญอินโดนีเซียประจำสถาบันเทคโนโลยีบันดุง(Bandung Institute of Technology)กล่าวว่า “ยังไม่พบคลื่นยักษ์ปรากฏ แต่ถึงแม้หากเกิดขึ้นจริง หายนะที่จะเกิดขึ้นนั้นจะมีอานุภาพร้ายแรงกว่าที่เกิดขึ้นในปี 2004 หากว่าเกิดแผ่นดินไหวในระดับ 8.6 ”

รอยเตอร์ชี้ว่า ระบบเตือนภัยสึนามิที่มีจุดประสงค์เพื่อเตือนประชาชนล่วงหน้าเพื่อสามารถหลบไปอยู่ในที่ปลอดภัยนั้นยังคงมีจุดบกพร่อง และพบว่าในหลายพื้นที่รอบชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ระบบการเตือนภัยยังเข้าไปไม่ถึงเนื่องมาจากปัญหาความล่าช้าในระบบราชการของแต่ละประเทศ รวมไปถึงอุปสรรคทางด้านภูมิประเทศ

d3808

นอกจากนี้ยังพบว่า ในบริเวณพื้นที่ส่วนที่อาจได้รับผลกระทบจากภัยสึนามิมากที่สุด แต่กลับกลายว่ายังขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน และประชาชนจำนวนมากในพื้นที่เสี่ยงภัยยังไม่มีความรู้ในการเตรียมพร้อมเพื่อทำให้พวกเขาปลอดภัยหากเกิดภัยพิบัติคลื่นยักษ์ครั้งใหญ่อีกครั้ง

จากเครื่องมือวัดระดับน้ำทะเล (sea-level gauges) จำนวน 101 เครื่อง เครื่องมือที่ใช้ตรวจวัดคลื่นแผ่นดินไหว( seismometer) 148 เครื่อง และทุ่นส่งสัญญาณลอยน้ำ (Buoy)จำนวน 9 ระบบที่มีในภูมิภาคนี้ จะสามารถทำให้ระบบเตือนภัยสึนามิส่งสัญญาณเตือนไปยังศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติของแต่ละประเทศรอบมหาสมุทรอินเดียได้ภายใน 10นาทีหลังแผ่นดินไหวเกิดขึ้น โทนี เอลเลียตต์ (Tony Elliott) หัวหน้าประจำยูเนสโกรับผิดชอบดูแลระบบเตือนภัยสึนามิให้สัมภาษณ์กับรอย์เตอร์

แต่ยังคงมีความผิดพลาดในการจัดการ และทำให้เกิดความสูญเปล่า
d3809

ในอินโดนีเซีย ระบบเตือนภัยสึนามิที่ได้รับเงินอุดหนุนจากเยอรมันได้สร้างระบบเครือข่ายส่งสัญญาณลอยน้ำ (Buoy) ที่มีมูลค่ามหาศาล แต่ต้องทิ้งไป หลังมีรายงานออกมาว่า มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าที่คาด และระบบเครือข่ายนี้อาจจะไม่มีประสิทธิภาพคุ้มกับเม็ดเงินที่ได้ลงทุนไป

เพราะพบว่าทุ่นลอยน้ำเหล่านี้ได้รับความเสียหายหรือสูญหายจากฝีมือของเรือประมงอินโดนีเซีย และทุ่นส่วนที่เหลือนั้นไม่สามารถทำงานได้ เวลลี อัสวาเลียนตินา(Velly Asvaliantina )เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยงาน Assessment and Application of Technology (BPPT) ของอินโดนีเซียให้ความเห็น

แต่เอลเลียตต์ชี้ว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาการที่รวมไปถึงการขาดทุ่นส่งสัญญาณลอยอยู่บนผิวน้ำนั้นไม่ใช่อุปสรรคสำคัญในระบบเตือนภัยสึนามิ

สิ่งที่ควรจะให้ความสนใจมากกว่าคือ “การส่งคำเตือนสึนามิไปยังพื้นที่ชายฝั่งที่มีความเสี่ยงสูง และทำให้ประชาชนที่อาศัยในบริเวณนั้นสามารถหลบไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้ทันเวลา” เพราะในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในพิบัติสึนามิ 2004 รวมถึงไทย อินโดนีเซีย และอินเดีย รอยเตอร์ระบุว่า มีความก้าวหน้าในการวางระบบการเตือนภัย แต่สำหรับขั้นตอนสุดท้ายของระบบที่ต้องทำให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงรับการเตือนภัยอย่างทันท่วงที และมีความรู้ในการเอาตัวรอดเพื่อให้ปลอดภัย นั้นยังน่าเป็นห่วง
d3810
ด้านนาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติของไทยกล่าวว่า “ไทยมีการซ้อมรับมือภัยพิบัติคลื่นยักษ์ทุกปี และระบบการเตือนภัยสึนามิของไทยถือเป็น 1 ในระบบที่ดีที่สุดในโลก แต่ผมยอมรับว่าเรายังขาดการบำรุงรักษา”

ซึ่งในปลายเดือนมกราคมล่าสุด ทางหน่วยงานของนาวาอากาศเอกสมศักดิ์ได้ส่งเรือM.V.SEAFDEC ของศูนย์พัฒนาการประมงฯ เพื่อไปเก็บกู้เสาอากาศควบคุมและส่งสัญญาณ (Surface Buoy) ของทุ่นตรวจวัดสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งได้หลุดลอยไปยังศรีลังกาพร้อมทั้งวางทุ่นสำรองชุดใหม่แทน ประกอบด้วยตัวทุ่นลอย และอุปกรณ์ตรวจวัดแรงดันน้ำ และจากการจากที่กรณีทุ่นตรวจวัดสึนามิในมหาสมุทรอินเดียได้หลุดจากตำแหน่ง ทำให้ไม่สามารถส่งข้อมูลเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เครื่องตรวจวัดใต้ทะเล กลับมายังส่วนกลาง จนทำให้ผู้ที่ติดตามการเตือนภัยพิบัติของไทยแสดงความเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบ ต่อระบบการเตือนภัย

ในขณะที่ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช อดีตผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรได้ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า “หากเกิดสึนามิขึ้นฉับพลันในวันนี้ ไม่มีทางที่ไทยจะสามารถรับมือได้ทันท่วงที เพราะในระดับบริหารของข้าราชการไทยในอดีตมีปัญหาคอรัปชัน และมีการตัดราคาอุปกรณ์ที่สั่งซื้อทำให้ไม่มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล”
d3811
นอกจากนี้รอยเตอร์ยังรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับอินเดีย รัฐบาลอินเดียยอมรับว่าในระบบใหม่ยังมีปัญหาหนักที่ต้องแก้ไขในความพร้อมการส่งคำเตือนไปยังประชาชนในพื้นที่เสี่ยงผ่านทางแฟกส์ SMS และอีเมล อาเจย์ กูมาร์ ( Ajay Kumar ) จากศูนย์แห่งชาติอินเดียด้านสมุทรศาสตร์ กล่าว

กูมาร์ยอมรับว่า ยังคงมีประชาชนอินเดียในหลายพื้นที่ห่างไกลไม่ได้รับการเตือนภัยสึนามิอย่างทันท่วงที

และปัญหาที่พบจากการฝึกซ้อมรับมือสึนามิของอินเดียนั้นชี้ว่า หากเกิดคลื่นยักษ์ขึ้นฉับพลัน ประชาชนในพื้นที่ชายฝั่งยังไม่ทราบว่าต้องปฎิบัติตนอย่างไร และไม่มีข้อมูลว่าจะสามารถหลบหนีไปที่ใดจึงจะปลอดภัย

ส่วนในอินโดนีเซียที่ได้รับผลกระทบจากเหตุคลื่นยักษ์มากที่สุดในปี 2004 และมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงถึง 168,000  คน พบว่าระบบเตือนภัยสึนามิและระบบการอพยพของแดนอิเหนานั้นล้มเหลว จากปัญหาของความไม่ลงรอยของหน่วยงานสังกัดรัฐ เพราะในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานอุตุนิยมวิทยาและธรณีฟิสิกส์แห่งชาติอินโดนีเซีย หรือ BMKG พยายามให้รัฐบาลท้องถิ่นของเขตปกครองพิเศษ.อาเจะห์ มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมระบบเตือนภัยสึนามิ แต่ได้รับการปฎิเสธ โดยอ้างว่าหากต้องการให้ทางอาเจะห์ทำการควบคุมระบบเตือนภัย ทาง BMKG ควรจะส่งกำลังคนมาให้กับอาเจะห์

และนอกจากนี้อินโดนีเซียยังมีปัญหาจากการที่ประชาชนในพื้นที่ไม่มีความเชื่อมั่นในความสามารถของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะเห็นได้จากความล้มเหลวของการเตือนภัยสึนามิในปี 2012

นอกจากนี้อีกปัจจัยที่ส่งผลต่อความเสี่ยงในภัยพิบัติคลื่นยักษ์คือ มาตรฐานการก่อสร้างตึกรามบ้านช่องในอินโดนีเซีย รวมถึงอาเจะห์ ยังต่ำกว่ามาตรฐานโดยรวม และเป็นที่น่าตกใจเมื่อพบว่าในพื้นที่ชายฝั่งจุดที่เสียหายหนักจากการเกิดสึนามิในปี 2004ของแดนอิเหนา กลับมีการปลูกสร้างบ้านเรือนขึ้นอีกครั้งในบริเวณนั้น

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น