ผู้แทน UN ถึงพม่าลงพื้นที่โรฮิงญาตรวจสอบปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน

ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน ยางฮี ลี เดินทางถึงพม่าเพื่อเริ่มต้นการเยือนนาน 12 วัน ท่ามกลางปัญหาการละเมิดสิทธิต่อสมาชิกของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญาในปฎิบัติการปราบปรามทางทหารของรัฐบาล

ทหารพม่าใช้ข้ออ้างจากเหตุผู้โจมด่านตรวจชายแดนบังกลาเทศที่ทำให้ตำรวจ 9 นายเสียชีวิต เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม โดยทางการพม่าระบุว่าสมาชิกของชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาเป็นผู้ลงมือ และเริ่มประกาศให้พื้นที่เป็นพื้นที่ปฎิบัติการทางทหารเพื่อกวาดล้างชุมชนต่างๆ ในเมืองมองค์โดวติดชายแดนบังกลาเทศในรัฐยะไข่

นับแต่นั้น มีประชาชนอย่างน้อย 86 คน ถูกสังหาร และสหประชาชาติระบุว่าพลเรือนประมาณ 34,000 คน ได้หลบหนีข้ามแดนเข้าไปยังฝั่งบังกลาเทศ

ประชาชนและผู้ลี้ภัยต่างยืนยันว่าทหารได้ลงมือสังหาร ขืนใจ และกวาดจับพลเรือนโดยพลการ และเผาหมู่บ้านต่างๆ ในรัฐยะไข่ แต่รัฐบาลภายใต้การนำของนางอองซานซูจีปฏิเสธข้อกล่าวหาต่างๆ และยืนยันว่าปฎิบัติการดังกล่าวเป็นการดำเนินการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบตามกฎหมาย แต่ล่าสุดกลับปรากฎภาพตำรวจพม่าถ่ายภาพระหว่างปฎิบัติการของพวกเขาในการทรมานชาวโรฮิงญา ที่มีทั้งการใช้ไม้ตี เตะเข้าที่ใบหน้าของชาวโรฮิงญาที่ถูกสั่งให้นั่งอยู่กับพื้น

ยางฮี ลี จะเดินทางไปยังพื้นที่ทางเหนือของรัฐยะไข่ ที่ปฏิบัติการทางทหารกำลังดำเนินอยู่ และเดินทางต่อไปยังนครย่างกุ้ง กรุงเนปีดอ และรัฐคะฉิ่น ในภาคเหนือ ที่กองกำลังของรัฐกำลังต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์กะฉิ่น ตามคำแถลงของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

“เหตุการณ์ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่าประชาคมโลกยังต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบต่อสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า” ยางฮี ลี ผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในพม่ากล่าว

ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ชายแดนก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของซูจีต่อประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนและความสามารถในการควบคุมกองทัพ ที่ยังคงมีบทบาททางการเมือง

รัฐบาลได้จำกัดความช่วยเหลือในพื้นที่ทางเหนือของรัฐยะไข่ ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมโรฮิงญาซึ่งถูกปฏิเสธสิทธิความเป็นพลเมืองในพม่า และยังห้ามนักข่าวอิสระเข้าไปในพื้นที่

มาเลเซียและอินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชาชนกรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ได้แสดงความวิตกต่อวิกฤตโรฮิงญา ที่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงเชื่อว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้กำลังดึงดูดความสนใจของกลุ่มติดอาวุธต่างชาติ พร้อมทั้งเรียกร้องให้พม่าเปิดให้ความช่วยเหลือจากองค์กรในชาติอาเซียนส่งความช่วยเหลือเข้าช่วยในพื้นที่

ลีจะยังสืบสวนผลกระทบต่อพลเรือนจากการสู้รบที่ทวีความรุนแรงระหว่างกองทัพและกบฎในรัฐกะฉิ่นและรัฐชาน ที่ลีกล่าวว่าก่อให้เกิดความวิตกถึงทิศทางที่รัฐบาลใหม่กำลังดำเนินการในปีแรกของการบริหารประเทศ

เอ วิน โฆษกสำนักงานสหประชาชาติในพม่า กล่าวว่า ลีเดินทางถึงพม่าในช่วงค่ำวันอาทิตย์ (8) และมีกำหนดบินไปยังเมืองมิตจีนา เมืองเอกของรัฐกะฉิ่นในวันจันทร์ (9)

ซอ เต โฆษกประธานาธิบดีกล่าวว่ารัฐบาลจะให้การรักษาความปลอดภัยแก่ลีขณะเยือนพื้นที่ขัดแย้ง และยังกล่าวว่าคณะผู้แทนของรัฐบาลพม่าจะเยือนบังกลาเทศในวันที่ 11-13 มกราคม เพื่อหารือสถานการณ์ชายแดน

ความสัมพันธ์ของสองประเทศเพื่อนบ้านกำลังถูกทดสอบจากกระแสคลื่นผู้ลี้ภัยระลอกใหม่ที่หลั่งไหลเข้าไปในบังกลาเทศ และจากรายงานที่ระบุว่ากองทัพเรือพม่ายิงใส่ชาวประมงบังกลาเทศในน่านน้ำรอยต่อระหว่างกันอีกด้วย

ความคิดเห็น

comments