มาเลเซียเสนอ ICAO บังคับแจ้งเตือนความเสี่ยงต่อสายการบินที่ต้องผ่าน “พื้นที่ขัดแย้ง”

รัฐบาลมาเลเซียร้องขอให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกกฎบังคับการแจ้งเตือนความเสี่ยงต่อสายการบินที่ต้องใช้เส้นทางผ่านพื้นที่ขัดแย้ง หลังเกิดโศกนาฏกรรมการบินถึง 2 ครั้งกับสายการบินแห่งชาติแดนเสือเหลืองในปีที่แล้ว ทั้งเหตุการณ์เครื่องบิน MH370 สูญหาย และ MH17 ถูกยิงตกในยูเครน

องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดยูเอ็นถูกเรียกร้องให้มีมาตรการใหม่ๆ เพื่อปกป้องเครื่องบินโดยสาร หลังเกิดกรณีเที่ยวบิน MH17 ของมาเลเซียแอร์ไลน์สซึ่งเดินทางจากกรุงอัมสเตอร์ดัมไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ถูกยิงตกในภาคตะวันออกของยูเครนเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว จนเป็นเหตุให้ลูกเรือและผู้โดยสารเสียชีวิตถึง 298 คน

ICAO เสนอให้ทดลองใช้เว็บไซต์กลางซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ สามารถเผยแพร่คำเตือนเกี่ยวกับการเดินทางผ่านพื้นที่ขัดแย้ง แต่ประเด็นสำคัญก็คือ ข้อเสนอนี้มิได้เป็นการบังคับให้รัฐสมาชิก ICAO ทุกประเทศต้องให้ข้อมูล

อัซฮารุดดิน อับดุลเราะห์มาน ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนมาเลเซีย กล่าวต่อที่ประชุม ICAO ว่าด้วยความปลอดภัยการบินที่เมืองมอนทรีออล ว่า “วิธีบริหารจัดการเที่ยวบินพาณิชย์ทั่วโลกจะต้องได้รับการปรับปรุงโดยไม่ชักช้า” และยูเอ็นควรกำหนดให้การแจ้งเตือนความเสี่ยง “เป็นข้อบังคับ และต้องกระทำอย่างถูกเวลา”

โศกนาฏกรรมเที่ยวบิน MH17 เกิดขึ้นในช่วงที่มีการสู้รบระหว่างทหารฝ่ายกรุงเคียฟกับกบฏแบ่งแยกดินแดนในยูเครนตะวันออก สหรัฐฯ อ้างว่าเครื่องบินลำนี้ถูกยิงตกโดยขีปนาวุธชนิดยิงจากพื้นดินสู่อากาศของพวกกบฏ ในขณะที่รัสเซียออกมาเถียงว่า เครื่องบินทหารของกองทัพยูเครนคือตัวการโจมตีโบอิ้ง 777 ของมาเลเซียแอร์ไลน์ส

เนเธอร์แลนด์ซึ่งสูญเสียพลเมืองไปถึง 196 คนจากเหตุการณ์เที่ยวบิน MH17 แถลงเมื่อวานนี้(2)ว่า แผนของ ICAO ถือเป็นก้าวสำคัญที่รัฐสมาชิกควรให้การสนับสนุน

“การบินจะต้องมีทั้งเสรีภาพและความปลอดภัย ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับโชคชะตา และการซื้อตั๋วเครื่องบินก็ไม่ควรเสี่ยงเหมือนซื้อล็อตเตอรี” วิลมา มานสเวลด์ รัฐมนตรีกระทรวงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อมเนเธอร์แลนด์ ระบุ

รัฐบาลมาเลเซียยังเรียกร้องให้มีการจัดทำระบบติดตามเครื่องบินแบบเรียล-ไทม์ ซึ่งแม้จะต้องใช้งบประมาณมาก แต่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ละเลยไม่ได้

เที่ยวบิน MH370 ของมาเลเซียแอร์ไลน์สสูญหายไปจากจอเรดาร์ขณะพาผู้โดยสารและลูกเรือ 239 คนเดินทางจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปยังกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ปี 2014 ปฏิบัติการค้นหาที่ผ่านมาเกือบปีพุ่งเป้าไปยังมหาสมุทรอินเดียทางฝั่งตะวันตกของออสเตรเลีย แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่พบร่องรอยของเครื่องบินและกล่องดำ

“กรณี MH370 แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่เราจะต้องปรับปรุงระบบติดตามเครื่องบินเพื่อความปลอดภัยและความมั่นคง… ในยุคสมัยนี้ การที่เครื่องบินลำหนึ่งจะหายไปเฉยๆ และติดตามหากล่องดำได้ยากลำบาก เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้อีกแล้ว” เอกสารของรัฐบาลมาเลเซีย ระบุ

ที่ประชุม ICAO มีแนวโน้มที่จะออกกฎให้เครื่องบินโดยสารส่งสัญญาณกลับไปยังศูนย์ควบคุมตามระยะเวลาที่กำหนดสำหรับการบินปกติ และเร่งให้ถี่ขึ้นในกรณีที่เครื่องบินเผชิญปัญหา นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงกล่องดำที่สามารถดีดตัวออกจากเครื่องบินได้ ซึ่งอาจจะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้การค้นหาอุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบินสะดวกยิ่งขึ้น

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น