พม่าปล่อยยะไข่ล้อมหมู่บ้านโรฮิงญา 3 สัปดาห์ อ้างกำลังปรับปรุงความปลอดภัย

ชาวมุสลิมโรฮิงญาหลายร้อยคนยังคงถูกกลุ่มชาวพุทธยะไข่ปิดล้อมมานานกว่า 3 สัปดาห์ให้อยู่แต่ภายในพื้นที่ของตนเองในหมู่บ้านทางตะวันตกของพม่า ด้านทางการพม่าอ้างการปล่อยให้ใช้กฎหมู่ในยะไข่เป็นการปรับปรุงความปลอดภัยในพื้นที่

ผู้ตรวจสอบและเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ต่างวิตกกันว่า ความรุนแรงที่มีอยู่จนถึงตอนนี้ต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาในพื้นที่ทางเหนือของรัฐ อาจปะทุรุนแรงขึ้นอีก

ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ และผู้ตรวจสอบกล่าวกับรอยเตอร์ว่า ชาวมุสลิมในหมู่บ้านเซดีเปง ถูกขวางไม่ให้ไปทำงานหรือหาซื้ออาหาร และน้ำในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา และมีเพียงชาวมุสลิมโรฮิงญาไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ออกไปซื้อเสบียงเมื่อวันอังคาร (22)

ตำรวจและชาวบ้านที่เป็นชาวพุทธยะไข่ได้ร่วมกันจำกัดปริมาณอาหารที่ชาวโรฮิงญาสามารถซื้อหาได้ และยังปฏิเสธความเคลื่อนไหวในบริเวณโดยรอบหมู่บ้าน รวมทั้งการออกไปทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ

“ผมคิดว่าพวกเขาเพียงแค่หวาดกลัวและไม่กล้าออกไป” โฆษกสำนักงานตำรวจพม่าอ้าง

ด้านรัฐบาลระบุว่ากำลังทำงานเพื่อปรับปรุงความปลอดภัยในพื้นที่

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพิ่มความวิตกว่าความรุนแรงระหว่างชุมชนจะเกิดขึ้นซ้ำอีกครั้งในเมืองสิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ ดังเช่นในปี 2555 ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 200 คน และอีกราว 140,000 คน ต้องไร้ที่อยู่อาศัย

“ความวิตกในหมู่บ้านเซดีเปง คือสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้จะยกระดับจนกลายเป็นความรุนแรงระหว่างสองชุมชนหรือไม่” กลุ่มอาระกันโปรเจ็คที่ตรวจสอบประเด็นโรฮิงญา กล่าว

รัฐยะไข่ประสบปัญหาความแตกแยกมายาวนานระหว่างชาวพุทธยะไข่ และชาวมุสลิมโรฮิงญา โดยในรัฐแห่งนี้เป็นบ้านของชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่นับล้านคนเป็นที่ตั้งเดิมของรัฐอาระกันในอดีต แต่ทางการพม่าผู้ปกครองพื้นที่ในปัจจุบันกับปฏิเสธสิทธิการเป็นพลเมืองของพวกเขา และเผชิญกับข้อจำกัดการเดินทาง ที่กลุ่มชาตินิยม และรัฐบาลพม่ากล่าวหาว่าพวกเขาเป็นผู้อพยพจากบังกลาเทศ

ทั้งนี้ความรุนแรงระรอกล่าสุดยังได้ส่งผลให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 87,000 คน ได้หลบหนีไปบังกลาเทศตั้งแต่ ทหารพม่าใช้ปฎิบัติการทางทหารในการปราบปรามสิ่งที่อ้างว่าเป็นการก่อการร้ายในพื้นที่ โดยมีการใช้การโจมตีทางอากาศเข้าร่วมด้วย

หมู่บ้านเซดีเปง เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่มีผู้อยู่อาศัยราว 5,000 คน มีทั้งมัสยิดและวัดอยู่ในพื้นที่ แต่ชาวยะไข่ได้ปิดล้อมชาวโรฮิงญาประมาณ 700 คนไว้ภายในย่านที่พักอาศัยของพวกเขา ด้วยการปิดทางเข้าออก ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม ไม่ให้ชาวโรฮิงญาเข้าถึงตลาดและสระน้ำที่ใช้เป็นแหล่งน้ำดื่ม ตามการระบุของชาวมุสลิมและผู้ตรวจสอบ

คนท้องถิ่นระบุว่า ความตึงเครียดเพิ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม เมื่อชายชาวพุทธยะไข่จากหมู่บ้านใกล้เคียงหายตัวไป และพบชาวโรฮิงญา 3 คน เสียชีวิตในช่วงเวลาเดียวกัน

“พวกเขากล่าวหาเราว่าสังหารชาวยะไข่ที่หายตัวไป และขวางไม่ให้เราออกไปไหนเพราะเรื่องนี้” ชายชาวโรฮิงญาบอกกับรอยเตอร์ทางโทรศัพท์

ชายชาวโรฮิงญาคนที่ 2 ที่อยู่ในพื้นที่ปิดล้อมเช่นกันเปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า ชาวบ้านถูกขวางไม่ให้ไปทำงานที่ท่าเรือท้องถิ่น ซึ่งหลายคนรับจ้างขนของเพื่อเลี้ยงชีพ และยังถูกห้ามไปละหมาดที่มัสยิดในหมู่บ้าน ซึ่งอยู่นอกพื้นที่ปิดล้อม

ชาวบ้านยะไข่ที่มีดาบ และไม้เป็นอาวุธ ได้ตั้งด่านตรวจชั่วคราว 6 จุด รอบย่านที่อยู่อาศัยของชาวโรฮิงญา แต่ยังไม่มีการบุกเข้าโจมตีชาวโรฮิงญาในหมู่บ้านดังกล่าว

โฆษกตำรวจกล่าวว่า ทางการได้รับคำร้องเรียนเกี่ยวกับการปิดล้อมเมื่อสัปดาห์ก่อน และการประชุมในวันศุกร์ (18) ได้ข้อตกลงที่จะอนุญาตให้ชาวโรฮิงญา 15 คน ออกจากพื้นที่ไปซื้อหาเสบียงอาหารได้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง

ซอ เต โฆษกของนางอองซานซูจี กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขเมื่อวันศุกร์ และชาวบ้านสามารถออกไปนอกพื้นที่ได้ ส่วนรัฐบาลกำลังวางแผนที่จะจัดหาความปลอดภัยให้กับคนเหล่านี้ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

หนึ่งในชายชาวโรฮิงญาที่ยืนยันว่าอยู่ในกลุ่มคน 15 คน ที่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกพื้นที่ปิดล้อมเพื่อซื้อหาอาหารสำหรับชุมชนในวันอังคาร (22) ระบุว่า พวกเขายังไม่ได้รับอนุญาตให้เคลื่อนไหวได้อย่างเสรี

“พวกเขาบอกว่า ทั้ง 15 คน สามารถออกไปข้างนอกได้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง แต่ไม่สามารถไปทำงานได้ ซึ่งเราไม่รู้ว่าเราจะเอาเงินที่ใหนมาจ่ายค่าอาหาร” ชาวโรฮิงญา กล่าว

หมู่บ้านเซดีเปง อยู่ในเขตที่มีคนหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่รวมกัน ห่างจากเมืองสิตตะเวไปทางเหนือราว 65 กิโลเมตร

ในอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เพิ่มความตึงเครียดในพื้นที่คือ ชาวบ้านในหมู่บ้านอุ๊กนานยา ที่อยู่ข้างเคียงซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา ระบุว่าพวกเขาถูกกองกำลังรักษาความมั่นคงห้ามออกจากหมู่บ้าน หลังเกิดเหตุเผชิญหน้าในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ระหว่างชาวมุสลิมหลายร้อยคนและกองกำลังรักษาความมั่นคง ที่พยายามจะจับกุมชายชาวโรฮิงญา 6 คน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าระดมเงินเพื่อก่อการร้าย และในวันเดียวกันนั้น มีชาวพุทธถูกฆ่าอีก 7 คน ในอีกพื้นที่ของรัฐยะไข่

ในสัปดาห์ที่เหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ เกิดขึ้นนั้น อองซานซูจีได้เรียกประชุมความมั่นคงระดับสูงในกรุงเนปีดอ และประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ ขณะที่กองทัพได้ส่งกำลังทหารราว 500 นาย เข้าเสริมพื้นที่เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม

ตำรวจระบุว่า ทหารดำเนินการปฏิบัติการกวาดล้างในเขตภูเขามายู ที่รัฐบาลสงสัยว่าผู้ก่อการร้ายโรฮิงญาซุ่มฝึกกำลังอยู่

“ชาวบ้านใกล้เคียงถูกเตือนให้ระมัดระวังเมื่อออกไปยังบริเวณภูเขา เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุมตัว” โฆษกตำรวจกล่าว

ชาวบ้าน 2 คน จากหมู่บ้านอุ๊กนานยา กล่าวกับรอยเตอร์ว่า พวกเขาไม่สามารถที่จะไปตลาดเพื่อซื้อหาอาหารหรือทำงานได้ ทำให้พวกเขาต้องแบ่งอาหารกับคนที่เหลือในหมู่บ้าน และไม่รู้ว่าจะมีอาหารเหลือพอแบ่งปันได้อีกนานเท่าใด

ความคิดเห็น

comments