ซูจีอ้างรบ.พม่าปกป้องทุกคนในยะไข่ โบ้ยข่าวปลอมทำให้ดูแรง

ออง ซาน ซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ ยอมเปิดปากล่าสุดวันพุธ(6 กันยายน) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรงฮิงญาว่า “รัฐบาลทหารพม่าปกป้องทุกคนในรัฐยะไข่” โบ้ย “ยอดภูเขาน้ำแข็งของข้อมูลที่ผิดพลาดส่งเสริมก่อการร้าย” เกิดขึ้นหลังทั่วโลกประณามพม่าทำโรฮิงญาไม่ต่ำกว่า 400 คนตาย กว่าแสนคนอพยพเข้าบังกลาเทศ เลขาฯ UN สุดทน ออกโรงกดดันซูจีหยุดความรุนแรง ด้านสื่อทั่วโลก พร้อมองค์กร ISESCO ตั้งคำถาม “ซูจียังสมควรในตำแหน่งโนเบลสันติภาพ” หรือ??

หนังสือพิมพ์สเตรทไทม์ส์ ของสิงคโปร์ รายงานวันพุธ(6 กันายายน)ว่า ออง ซาน ซูจี ผู้นำพม่าที่เคยได้รับการยกย่องทั่วโลก ล่าสุดออกมาให้สัมภาษณ์ถึงวิกฤตโรฮิงญาในประเทศแล้ว โดยกล่าวโทษเหตุ “ข่าวปลอม” ทำให้วิกฤตโรฮิงญาในพม่านั้นถูกบิดเบือนไป

ทั้งนี้พบว่า เป็นการออกมาให้ความเห็นครั้งแรกของเธอ หลังถูกทั่วโลกกดดันอย่างหนัก รวมไปถึง บุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น มาลาลา ยูซาฟไซ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่มีอายุน้อยที่สุด ได้ร่วมเรียกร้องให้ซูจี ออกมาประณาม ต่อต้านการใช้ความรุนแรง ต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่

ขณะที่เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูแตร์เรส กล่าวเมื่อวันอังคาร(5 กันยายน) กดดันให้ ซูจี ผู้นำสันติภาพพม่า หยุดสงครามปราบปรามโรฮิงญาอย่างป่าเถื่อนในประเทศบ้านเกิดของเธอ พร้อมกันนั้นองค์การสหประชาชาติยังได้เผยถึงตัวเลขล่าสุดเมื่อวันอังคารว่ามีชาวโรฮิงญาร่วม 125,960 คนได้หลบหนีภัยการถูกปราบปรามของทหารพม่าเข้าไปยังบังกลาเทศ และชี้กว่า 80% ของผู้อพยพทั้งหมดเป็นเด็กและผู้หญิง

BBC สื่อมวลชนอังกฤษที่เพิ่งถอนตัวจากการนำเสนอข้อมูลในภาคภาษาพม่าเนื่องจากถูกห้ามนำเสนอข่าวเกี่ยวกับโรฮิงญาได้รายงานว่า วิกฤตฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรงฮิงญาในรัฐยะไข่เกิดขึ้นหลังจากมีกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาได้เข้าทำการโจมตีเจ้าหน้าที่พม่าในพื้นที่เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ซึ่งทหารพม่าใช้เหตุดังกล่าวในการปราบปรามอย่างรุนแรงในพื้นที่ ส่งผลทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากต้องหนีตายเข้าสู่บังกลาเทศทันที

ซึ่งมีการเปิดเผยจากชาวโรฮิงญาที่รอดชีวิตมาได้ชี้ว่า กองทัพและม็อบชาวพุทธรัฐยะไข่ได้เข้าทำลายหมู่บ้านของพวกเขาจนราบ รวมไปถึงสังหารชาวโรฮิงญาที่ยังหลงเหลืออยู่เพื่อบีบบังคับให้ต้องอพยพออกไป ซึ่งการปะทะเกิดขึ้นนานถึง 12 วัน แต่ทางกองทัพพม่ากลับอ้างว่า เป็นการต่อสู้ระหว่างกองทัพกับกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญา

โดยในรายงานของเดอะการ์เดียน รัฐบาลทหารพม่ายอมรับว่า มีผู้เสียชีวิตจำนวนอย่างน้อย 400 คนในเหตุล่าสุดจริง แต่อ้างว่า พบว่าจำนวนมากที่เสียชีวิตเป็นพวกกลุ่มก่อการร้าย และยังอ้างต่อว่า ทางกลุ่มกบฏโรฮิงญาเป็นผู้ทำการเผาหมู่บ้านตัวเองจนวอด และกลุ่มกบฏติดอาวุธเหล่านี้ยังสังหารชาวพุทธและฮินดูด้วย

ออง ซาน ซูจี ผู้ที่เคยได้รับการยกย่องเป็นสัญลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพของพม่าเก็บตัวเงียบมาตลอด และเพิ่งปรากฏตัวต่อสาธารณะวันพุธ(6 กันยายน) แสดงความเห็นถึงวิกฤตโรงฮิงญาครั้งแรก

แถลงการณ์ที่ออกมาจากรัฐบาลพม่าวันพุธ(6)ผ่านการรายงานสื่อท้องถิ่น อ้างรายงานคำพูดของซูจีที่กล่าวในการสนทนาทางโทรศัพท์ต่อประธานาธิบดีตุรกี รอยับ ตอยยิบ ออโดกัน ว่า “รัฐบาลพม่าของเธอได้เริ่มทำการปกป้องทุกคนในรัฐยะไข่แล้ว”

“พวกเรารู้ดี มากกว่าใครทั้งหมด มันเป็นเช่นไรเมื่อถูกทำให้ต้องเสียสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและการปกป้องทางประชาธิปไตย” สื่อท้องถิ่นพม่าได้รายงงานคำพูดของซูจี

และซูจียังกล่าวต่ออีกว่า “ดังนั้นเราจึงต้องทำให้มั่นใจว่าทุกคนในประเทศของเราจะต้องได้รับการปกป้องและพร้อมกับสิทธิของพวกเขา และไม่ใช่แค่ด้านการเมือง แต่รวมไปถึงด้านสังคมและมนุษยธรรม”

และในแถลงการณ์รัฐบาลพม่ายังชี้ไปถึง “ภาพข่าวที่เป็นเท็จถูกเผยแพร่ไปทั่ว” ซึ่งถือเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งของข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน มีเป้าหมายเพื่อก่อให้เกิดปัญหาระหว่างชุมชนที่มีความแตกต่างกัน จุดประสงค์ต้องการสร้างความขัดแย้งเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มก่อการร้ายเท่านั้น

หนังสือพิมพ์สเตรทไทม์สของสิงคโปร์รายงานว่า ออง ซาน ซูจี ได้ยกตัวอย่าง โดยโยงไปถึงการทวีตภาพการสังหารที่ผู้ช่วยนายกรัฐมนตรีตุรกีเป็นผู้ทวีตขึ้น แต่ในภายหลังได้ลบทิ้งไปเพราะภาพเหล่านี้ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่า

ในขณะที่เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ ที่นอกจะออกมากดดันให้ซูจีและผู้นำพม่าหยุดความรุนแรงในรัฐยะไข่แล้ว ยังได้ส่งสารไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติ เพื่อแสดงความห่วงใยกฤตโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ซึ่งถือไม่เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นสำหรับผู้นำองค์การสหประชาชาติ

โดยในการให้สัมภาษณ์ เมื่อนักข่าวถามถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ กูแตร์เรสได้แต่กล่าวว่า “เรากำลังเผชิญหน้ากับความเสี่ยง ซึ่งผมหวังว่าเราจะไม่ไปถึงตรงจุดนั้น”

ขณะที่หน่วยงานบรรเทาทุกข์ต่างๆของสหประชาชาติยังคงประสบปัญหา ถูกห้ามส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ เป็นต้นว่า อาหาร น้ำ และยา เข้าช่วยเหลือชาวโรฮิงญา ในขณะที่เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ในพื้นที่ต่างออกมาให้ข้อมูลว่า โกดังที่เก็บสิ่งของบรรเทาทุกข์ถูกปล้นสะดม

ในขณะเดียวกันสำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานว่า ในวันอังคาร(5 กันยายน) องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมอิสลาม (ISESCO) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้คณะกรรมการตัดสินรางวัลโนเบลให้ทำการริบรางวัลดนเบลสาขาสันติภาพจากซูจี ซึ่งเธอได้ไปในปี 1991

โดยในแถลงการณ์ของ ISESCO ยืนยันว่า ออง ซาน ซูจี ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นเจ้าของในรางวัลที่ทรงเกียร์ตินี้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่า และภายใต้การนำของเธอ ที่ส่งผลต่อชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา

โดยในแถลงการณ์ยืนยันว่า การกระทำที่ป่าเถื่อนของรัฐบาลพม่านั้นขัดต่อจิตวิญญาณของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และในแถลงการณ์ขององค์ ISESCO ยังได้เรียกร้องให้ประชาคมโลกต้องเข้าแทรกแรงอย่างทันทีเพื่อหยุดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงในพม่า

ทั้งนี้นอกจาก ISESCO แล้วพบว่า สื่อทั่วโลกยังได้ออกมาตั้งคำถามถึงอองซาน ซูจี และรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่เธอได้รับ เป็นต้นว่า สื่อจากาตาร์โพสต์ ของอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรชาวมุสลิมากที่สุดในโลก ออกบทความประณามซูจีว่า “ออง ซาน ซูจี ไม่สมควรได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ” และหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ออกมาชี้ “เหตุใดจึงไม่สามารถยึดรางวัลโนเบลสันติภาพคืนจากซูจีได้”

ความคิดเห็น

comments