รัสเซียออกตัวโต้สหรัฐฯ ประณามพม่าล้างชาติพันธุ์โรฮิงญา

เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำพม่าออกตัวตอบโต้สหรัฐฯ ที่ออกมากล่าวประณามปฎบัติการทางทหารของพม่า ในการปราบปรามชาวโรฮิงญาว่าเป็น “การกวาดล้างชาติพันธุ์” เป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์และอาจทำให้สถานการณ์แย่ลง และวิจารณ์ว่าเป็นการแทรกแซงจากภายนอกที่มากเกินไป

สหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันพุธ (22) ว่าปฏิบัติการทางทหารของพม่าเทียบได้กับการกวาดล้างชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นการตอกย้ำคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหประชาชาติ ที่ชี้ถึงวิกฤติด้านมนุษยธรรมที่ร้ายแรงนี้นับแต่ช่วงแรกของการเกิดเหตุ

“ผมไม่คิดว่าจะช่วยแก้ไขปัญหานี้” นิโคไล ลิสโตปาดอฟ ทูตรัสเซียประจำพม่า กล่าวกับรอยเตอร์ในการให้สัมภาษณ์ที่นครย่างกุ้ง เมื่อถูกสอบถามถึงความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ

“ในทางตรงกันข้าม มันสามารถยกระดับสถานการณ์ให้รุนแรงขึ้น ราดน้ำมันลงบนกองไฟเพิ่มขึ้นอีก” ทูตรัสเซีย กล่าวอ้างว่าชาวพุทธในรัฐยะไข่อาจจะตอบโต้ข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ

รัสเซีย และจีน 2 ชาติที่พม่าขอให้ช่วยขัดขวางความพยายามของสหประชาชาติต่อการปราบปรามทางทหารที่รุนแรงของพม่าต่อชาวโรฮิงญา โดยทั้ง 2 ชาติได้ดำเนินการตามคำขอของพม่ามาโดยตลอด และเพิ่งยินยอมเห็นชอบต่อคำแถลงของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติที่เรียกร้องให้พม่ารับประกันว่าจะไม่มีการใช้กำลังทหารที่มากเกินไป และแสดงความวิตกต่อรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ทั้ง 2 ชาติยังคงจุดยืนคัดค้านการใช้มาตรการแข็งกร้าวและการกดดันพม่า

“เราต่อต้านการแทรกแซงจากภายนอกที่มากเกินไป เพราะมันจะไม่นำไปสู่ผลที่ทางสร้างสรรค์” ลิสโตปาดอฟ ทูตรัสเซียประจำพม่ากล่าว

ในการเยือนพม่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าของนางอองซาน ซูจีดำเนินการการสอบสวนที่น่าเชื่อถือ และเป็นกลาง และกล่าวว่าผู้ที่กระทำการทารุณต้องรับผิดชอบ

แต่โอกาสที่จะเกิดการสอบสวนในลักษณะดังกล่าวยังคงมืดมน และรัฐบาลของซูจีปฏิเสธที่จะร่วมมือกับภารกิจของที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติที่มีขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม จากการสอบสวนเหตุรุนแรงเมื่อครั้งเดือนตุลาคม 2559

การสอบสวนที่เป็นอิสระตามคำเรียกร้องของนานาชาติ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อย่างสิ้นเชิงสำหรับพม่า ลิสโตปาดอฟ ทูตรัสเซียประจำพม่าระบุถึงจุดยืนของพม่า

“มันไม่สามารถยอมรับได้เลยสำหรับฝั่งพม่า พม่าจะไม่มีทางยอมรับ มันไม่ได้ผล ไม่สร้างสรรค์ การสอบสวนอย่างอิสระหมายถึงการสอบสวนของนานาชาติ ไม่สามารถยอมรับได้” ทูตรัสเซียย้ำจุดยืนของพม่า

แนวทางของรัสเซียสำหรับแก้ปัญหารัฐยะไข่คือวิธีการทางการเมือง การเจรจาทางการเมือง ซึ่งทูตรัสเซียได้แสดงความยินดีกับการเจรจาที่เกิดขึ้นในกรุงเนปีดอระหว่างพม่าและบังกลาเทศเกี่ยวกับการส่งตัวผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับประเทศแม้ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน

“เราหวังให้พวกเขาประสบความสำเร็จ ปัญหารัฐยะไข่ที่ซับซ้อนสามารถแก้ไขได้ด้วยการเจรจาและข้อตกลงระหว่างสองฝ่าย เพราะพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องมากที่สุด” ลิสโตปาดอฟ กล่าว โดยอ้างถึงพม่าและบังกลาเทศ

กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่าทหารพม่าก่อเหตุข่มขืนและกระทำทารุณโหดร้ายต่างๆ ระหว่างปฎิบัติการกวาดล้างชาวโรฮิงญานับตั้งแต่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นเหตุทำให้ชาวโรฮิงญากว่า 620,000 คน ต้องหนีตายไปบังกลาเทศ ทำให้จำนวนชาวโรฮิงญาที่หนีตายอยู่ในบังกลาเทศแล้วทั้งหมดราว 1 ล้านคน

ขณะที่รัฐมนตรีพม่าระบุถึงข้อตกลงในการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับพม่าว่า พม่าสามารถดำเนินการได้สูงสุดเพียง 300 คนต่อวัน ซึ่งทำให้ NGO มองว่าอาจใช้เวลาอย่างน้อย 20 ปี ชาวโรฮิงญาจึงได้กลับพม่าทั้งหมด

ความคิดเห็น

comments