จีนป้องพม่าชาติอื่นอย่ายุ่ง โรฮิงญาเป็นปัญหาภายใน

จีนขวางต่างชาติเข้าแทรกแทรงปัญหาโรฮิงญา อ้างควรช่วยพม่า และบังกลาเทศอย่างสร้างสรรค์ แทนการทำให้ปัญหาซับซ้อนขึ้น หลังล่าสุดพม่าขัดขวางไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเดินทางเข้าประเทศ

หัว ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน อ้างว่า เหตุการณ์ในรัฐยะไข่ ที่ชาวโรฮิงญามากกว่า 655,000 คน หนีตายจากการปราบปรามรุนแรงทางทหารของพม่าเป็นกิจการภายในของพม่าที่มีปัจจัยด้านศาสนา เชื้อชาติ และประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อน

“เราคิดว่าประชาคมโลกควรให้ความช่วยเหลืออย่างสร้างสรรค์ต่อพม่า และบังกลาเทศในการแก้ไขปัญหา แทนการทำให้ปัญหามีความซับซ้อนยิ่งขึ้น” หัว ชุนอิง อ้าง

ยางฮี ลี ผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ระบุว่า เธอถูกทางการพม่าห้ามเดินทางเข้าประเทศตลอดช่วงการดำรงตำแหน่ง จากเดิมที่มีแผนเยือนพม่าในเดือนมกราคมปีหน้า โดยเจ้าหน้าที่ได้บอกแก่เธอว่า การห้ามเข้าพม่าเพื่อเป็นการตอบโต้ที่เธอวิพากษ์วิจารณ์การจำกัดความเคลื่อนไหวของเธอในการเดินทางเยือนพม่าครั้งที่ผ่านมาในเดือนกรกฎาคม

ลี ย้ำว่าการประกาศไม่ให้ความร่วมมือกับคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เป็นเครื่องบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า สถานการณ์ในรัฐยะไข่อาจจะเลวร้ายมาก รวมทั้งที่อื่นๆในพม่าด้วย

ด้านเจ้าชาย สอิ๊ด รออัด อัล-ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ กล่าวถึงข้อตกลงในการส่งตัวกลับโรฮิงญาของพม่า และบังกลาเทศว่า เขาไม่ได้รับการรับรองว่าผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศจะได้รับอนุญาตให้เข้าถึงพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่เพื่อสังเกตการณ์การเดินทางกลับของชาวโรฮิงญา

“เราไม่พบว่ามีความสนใจ หรือความต้องการที่จะเชิญเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานขอเราเข้าไปมีส่วนร่วม เราสงสัยในเรื่องนี้” เจ้าชายสอิ๊ด กล่าว

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุเมื่อวันจันทร์ (18) จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม ว่า กองทัพพม่ายังคงเผาหมู่บ้านชาวโรฮิงญาในช่วงที่มีการลงนามข้อตกลงส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศ โดยกลุ่มเฝ้าระวังสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ข้อตกลงส่งตัวกลับเป็นเพียงการแสดงประชาสัมพันธ์ และได้กล่าวเตือนว่า โรฮิงญาจะไม่ปลอดภัยในรัฐยะไข่ หากยังปราศจากการรับประกันสิทธิเท่าเทียม และการคุ้มครอง

“เราจะไม่กลับไปประเทศของเราจนกว่าจะได้สิทธิของเรา เราต้องการเป็นพลเมืองอย่างสมบูรณ์และกลับไปอยู่ในที่ดิน และทรัพย์สินของเรา เราต้องการความยุติธรรมสำหรับคนของเราที่ถูกสังหาร ถูกทรมาน และข่มขืน” ผู้ลี้ภัยโรฮิงญารายหนึ่งจากค่ายในบังกลาเทศ กล่าวกับ AFP

องค์กรการกุศลอ็อกแฟม (Oxfam) ของอังกฤษ ระบุในรายงานฉบับใหม่ ว่า โรฮิงญาจำนวนมากหวาดกลัวที่จะกลับประเทศ และยังไม่ต้องการตัดสินใจจนกว่าจะได้การรับรองความปลอดภัย

อองซานซูจี ผู้นำพม่า กล่าวอ้างว่าปฏิบัติการความมั่นคงต่อผู้ก่อการร้ายโรฮิงญาได้ยุติลงตั้งแต่ต้น 5 กันยายน พร้อมอ้างว่าสิ่งที่เป็นข่าวเป็นการบิดเบือน และเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่จากการกดดันอย่างหนักของนานาชาติรัฐบาลพม่าได้ลงนามข้อตกลงกับบังกลาเทศที่จะเริ่มส่งผู้ลี้ภัยมุสลิมกลับภายใน 2 เดือน โดยข้อตกลงให้คำมั่นว่า เป็นการเดินทางกลับอย่างปลอดภัย และด้วยความสมัครใจของผู้ลี้ภัยโรฮิงญา ซึ่งไม่เพียงแค่ผู้ลี้ภัยกลุ่มล่าสุด 655,000 คน แต่ยังรวมถึงผู้ที่อพยพจากความรุนแรงก่อนหน้าในเดือน ตุลาคม 2559 ด้วย

ความคิดเห็น

comments