อเมริกันถังแตก ทรัมป์ดันแก้กฎหมายให้ทูตเป็นเซลส์ขายอาวุธ

ทรัมป์คลอดแผน “บาย อเมริกัน” ตั้งเป้าเร็วที่สุดเดือนกุมภาพันธ์ ที่จะทำให้ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารและนักการทูตอเมริกันสวมบทเซลส์แมนขายอาวุธให้บริษัทอเมริกันเต็มตัวกว่าที่ผ่านมา นอกจากนั้นยังคาดว่า จะมีการผ่อนคลายข้อกำหนดควบคุมการส่งออกอาวุธที่จะคำนึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสำหรับผู้ผลิตอเมริกัน มากกว่าประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเช่นที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่อาวุโสหลายรายที่ไม่ประสงค์ออกนามระบุว่า ภายใต้แนวทางใหม่ที่รุกตลาดอาวุธกว่าเดิม เจ้าหน้าที่สถานทูตจะมีหน้าที่กระตุ้นยอดขายอาวุธของสหรัฐฯ รวมทั้งบรรยายสรุปแก่เจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลเพื่อช่วยกันผลักดันให้การขายลุล่วง จากปัจจุบันที่เจ้าหน้าที่เหล่านี้มีหน้าที่เพียง ช่วยจัดการความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯ ในต่างประเทศ จัดหาข้อมูลบางอย่างแก่รัฐบาลต่างชาติเพื่อส่งเสริมการขายอาวุธของอเมริกา เป็นต้น

เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งในคณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกปากว่า ข้อเสนอนี้เป็น “การกลับลำ 180 องศา” จากแนวทางปัจจุบันในการขายอาวุธให้ต่างชาติโดยหลีกเลี่ยงการพึ่งพาอาศัยความใกล้ชิดสนิทสนม

ทรัมป์เดินหน้าทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ในการสร้างงานในอเมริกา และขายสินค้าและบริการในต่างประเทศให้ได้มากขึ้นเพื่อลดยอดขาดดุลการค้าจากสถิติสูงสุดในรอบ 6 ปีที่ 50,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนั้น คณะบริหารยังถูกกดดันจากพวกบริษัทผู้รับเหมาสัญญากลาโหมในสหรัฐฯ ที่กำลังเผชิญการแข่งขันจากผู้ผลิตจีน และรัสเซีย ตลอดจนมหามิตรอย่างอิสราเอล

นอกจากการต่อยอดใช้ผลประโยชน์จากเครือข่ายผู้ช่วยทูตทหาร และทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในสถานทูตอเมริกันในเมืองหลวงของประเทศต่างๆ แล้ว เจ้าหน้าที่อาวุโสหลายคนในคณะบริหารยังเผยว่า ส่วนหนึ่งของแผนการนี้คือการแก้ไขระเบียบการขนส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายหลักในการควบคุมการส่งออกอาวุธที่อเมริกาใช้มาตั้งแต่ปี 1976 และไม่เคยปรับปรุงใหม่ทั้งหมดเลยในรอบกว่า 3 ทศวรรษ

เจ้าหน้าที่อาวุโสสำทับว่า การเพิ่มความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือบริษัทอาวุธในประเทศประกอบกับการผ่อนคลายข้อกำหนดควบคุมการส่งออกอาวุธ และแนวทางที่เอื้อต่อการขายอาวุธให้ประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกและพันธมิตรขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) มากขึ้น อาจนำมาซึ่งข้อตกลงมูลค่านับพันล้านดอลลาร์และการจ้างงานเพิ่มในอเมริกา

กลยุทธ์ในการเพิ่มบทบาทในการขายอาวุธของกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริษัทผู้รับเหมาสัญญากลาโหมสัญชาติอเมริกัน เช่น ล็อคฮีด มาร์ติน และโบอิ้ง

ด้าน ราเชล สโตล์ ผู้อำนวยการโครงการกลาโหมตามแบบแผนของ สติมสัน เซ็นเตอร์ในวอชิงตัน มองว่า คณะบริหารชุดนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจมากกว่าสิทธิมนุษยชน และการผ่อนคลายข้อจำกัดในการขายอาวุธอาจทำให้อาวุธที่มีเทคโนโลยีสูงสุดของอเมริกาตกอยู่ในมือรัฐบาลที่ไม่เคารพสิทธิมนุษยชนหรือแม้กระทั่งผู้ก่อการร้าย

ร่างกฎหมายนี้ที่มาจากความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ เพนตากอน กระทรวงพาณิชย์ สภาความมั่นคงแห่งชาติ จะต้องได้รับอนุมัติจากสมาชิกอาวุโสในคณะรัฐมนตรีก่อนส่งให้ทรัมป์

แหล่งข่าวบอกอีกว่า หลังจากประธานาธิบดีประกาศกรอบโครงแผนการนี้แล้ว จะเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นนาน 60 วัน จากนั้น คาดว่า คณะบริหารจะเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม โดยการเปลี่ยนแปลงบางส่วนอาจออกมาในรูป “คำสั่งว่าด้วยการตัดสินใจด้านความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดี”

ความคิดเห็น

comments