เผยยังคงโรฮิงญายังหนีออกจากพม่า แม้กระบวนการส่งกลับกำลังจะเริ่มต้น

ชาวโรฮิงญามากกว่า 100 คน หลบหนีข้ามแดนจากพม่าไปฝั่งบังกลาเทศตั้งแต่วันพุธ (17) โดยผู้อพยพกลุ่มล่าสุดระบุว่าปฏิบัติการของกองทัพยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องในรัฐยะไข่ ในขณะทีกระบวนการในการส่งชาวโรฮิงญากลับพม่ากำลังจะเริ่มต้นขึ้นท่ามกลางความกังวลของนานาชาติ และองค์กรระหว่างประเทศถึงความไม่ชัดเจนของสถานะชาวโรฮิงญาที่จะเดินทางกลับพม่า

ยังมีชาวมุสลิมโรฮิงญาอีกจำนวนมากรอข้ามแดนบริเวณแม่น้ำนาฟ ที่กั้นกลางระหว่างสองประเทศ แม้ทางการบังกลาเทศเตรียมพร้อมที่จะเริ่มส่งผู้ลี้ภัยชุดแรกกลับพม่าในสัปดาห์หน้า

บังกลาเทศและพม่าระบุเมื่อวันอังคาร (16) ว่าพวกเขาได้เห็นพ้องกันที่จะส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปี โดยกระบวนการจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 23 มกราคมที่จะถึงนี้

สหประชาชาติระบุว่าปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่ ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบโต้การโจมตีของกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ 25 สิงหาคม เป็นปฎิบัติการที่สหประชาชาติบอกว่าเป็นการการกวาดล้างชาติพันธุ์ต่อชาวโรฮิงญา

ตามการระบุของเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของบังกลาเทศ และเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือที่กระจายอยู่ตามค่ายโรฮิงญาในเมืองกุตุปะหล่อง ใกล้เมืองคอกซ์บาซาร์ระบุว่า ในเช้าวันพุธมีเรือข้ามแม่น้ำนาฟมาถึงฝั่งพร้อมผู้โดยสาร 53 คน และในเช้าวันพฤหัสฯ มีเรืออีกลำหนึ่งเดินทางมาจากอ่าวเบงกอลพร้อมคน 60 คน

ตามคำบอกเล่าของผู้เดินทางมาถึง ระบุว่ายังมีอีกหลายคนติดค้างรอที่จะข้ามแดนอยู่ในฝั่งพม่า แต่คนเหล่านั้นไม่มีเงินมากพอที่จะจ่ายค่าเรือ ที่คิดค่าใช้จ่ายคนละประมาณ 30,000-40,000 จ๊าต (20-30 ดอลลาร์) สำหรับข้ามฟากในตอนกลางคืน

ผู้เดินทางมาถึงส่วนใหญ่ระบุว่ามาจากหมู่บ้านเส่งยินปินในเมืองบุติด่อง สาเหตุที่หลบหนีมาด้วยเกรงว่าจะถูกทหารจับกุมตัวหากออกจากบ้านไปทำงาน

ด้านโฆษกกระทรวงมหาดไทยพม่าระบุว่า ไม่มีปฏิบัติการกวาดล้างเกิดขึ้นตามหมู่บ้านต่างๆ มีเพียงกองกำลังรักษาความมั่นคงที่พยายามเข้าควบคุมพื้นที่ในตอนเหนือของรัฐ

ด้านเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศรายหนึ่งกล่าวว่า เส้นตายในวันอังคารหน้าสำหรับการเริ่มส่งชาวโรฮิงญากลับพม่าอาจเป็นไปไม่ได้

“การเดินทางกลับต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ ปลอดภัย และมีเกียรติ” เจ้าหน้าที่ที่เป็นหนึ่งในสมาชิกที่หารือกับฝ่ายพม่าเกี่ยวกับการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ กล่าว

เจ้าหน้าที่รายนี้ยังระบุว่าพม่าจะรับชาวโรฮิงญา 1,500 คนต่อสัปดาห์ แม้ความต้องการของบังกลาเทศจะอยู่ที่ 15,000 คนต่อสัปดาห์ และฝั่งพม่าจะสร้างที่พักชั่วคราวให้กับผู้เดินทางกลับ ซึ่งฝ่ายบังกลาเทศต้องการที่จะมั่นใจว่าวิกฤตินี้ได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน

ความคิดเห็น

comments