ยอดผู้สูญหายในเหตุ “เรือผู้อพยพล่ม” ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนพุ่งทะลุ 300 ชีวิต

ยอดผู้สูญหายในเหตุเรือผู้อพยพล่ม ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอันเย็นเยียบวานนี้ (11 ก.พ.) ไต่ขึ้นสู่ราว 300 คน ทั้งนี้เป็นคำบอกเล่าจากผู้รอดชีวิต ในยามที่องค์กรชำนาญการด้านผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติ และหน่วยงานอื่นๆ ต่างรุมวิพากษ์วิจารณ์ปฏิบัติการช่วยชีวิตของสหภาพยุโรป (EU) ว่าไร้ประสิทธิภาพ จนนำไปสูการเสียชีวิตของคนมากมาย

ยอดผู้สูญหายที่อาจเสียชีวิตแล้วระลอกนี้เปิดเผยออกมา ภายหลังหน่วยยามฝั่งอิตาลีแจ้งว่า เมื่อต้นสัปดาห์นี้พบผู้อพยพ 29 รายเสียชีวิตจากสภาวะอุณหภูมิในร่างกายต่ำเกินไป (Hypothermia) ขณะพวกเขากำลังรอนแรมอพยพออกจากลิเบีย เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุว่า ผู้รอดชีวิตเล่าว่า ผู้อพยพแล่นเรือทั้งหมด 4 ลำออกมาพร้อมกันโดยไม่มีอาหารและน้ำติดมาเลย จากนั้นน้ำก็เริ่มไหลเข้าเรือแทบทันที โดยเรือของหน่วยรักษาการณ์ชายฝั่ง และเรือสินค้า สามารถช่วยชีวิตผู้ประสบภัยไว้ได้ราว 107 คน คาร์ลอตตา ซามี โฆษก UNHCR ประจำอิตาลีระบุว่า เหยื่อเหล่านี้ถูก “กลืนหายไปกับคลื่น” และผู้สูญหายที่อายุน้อยที่สุดมีวัยเพียง 12 ปี

ถึงแม้จะยังไม่สามารถระบุสัญชาติของผู้รอดชีวิตและผู้สูญหายได้ทันที แต่คนจำนวนมากที่อพยพไปถึงฝั่งในช่วงนี้มักจะหนีภัยสู้รบมาจากอิรัก ซีเรีย มาลี แลประเทศอื่นๆ

ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ, องค์กร “เซฟ เดอะ ชิลเดรน”, องค์การนิรโทษกรรมสากล และองค์กรด้านมนุษยธรรมอื่นๆ ได้กล่าวโจมตี ปฏิบัติการช่วยชีวิตที่ EU เข้ามาสานต่อว่าไม่มีประสิทธิภาพมากพอต่อการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้เข้ารับผิดชอบภารกิจตรวจการณ์ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หลังอิตาลียุติการดำเนินปฏิบัติการ “มาเร นอสทรัม” ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ทั้งนี้ ปฏิบัติการ มาเร นอสทรัม (ทะเลของเรา) เปิดฉากขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2013 ภายหลังจากเกิดเหตุผู้อพยพ 360 คนจมน้ำเสียชีวิตใกล้ชายฝั่งเกาะลัมเปดูซา แคว้นซิซิลี ประเทศอิตาลี

อย่างไรก็ตาม EU ดำเนินภารกิจช่วยชีวิต “ไทรทัน” ครอบคลุมน่านน้ำที่อยู่ห่างออกไปจากชายฝั่งยุโรปเพียงไม่กี่ไมล์เท่านั้น โดยปฏิบัติการนี้มุ่งลาดตระเวนในพรมแดนของยุโรป ในขณะที่ มาเร นอสทรัม จะส่งเรือกู้ภัยของอิตาลีเข้าไปตรวจการณ์ใกล้ชายฝั่งลิเบียด้วย

องค์กร เซฟ เดอะ ชิลเดรน ได้เรียกร้องให้สหภาพยุโรปจัดการประชุมฉุกเฉิน เพื่อกลับมาดำเนินปฏิบัติการมาเร นอสทรัม อีกครั้ง หรือดำเนินระบบการค้นหาและช่วยชีวิตที่มีอำนาจ ขีดความสามารถ และเครื่องไม้เครื่องมือในการป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำรอยขึ้นอีก

ทางด้านนายกรัฐมนตรีมัตเตโอ เรนซี แห่งอิตาลี รับปากว่าจะขอให้สภายุโรปทุ่มเทความพยายามในการตอบสนองต่อสถานการณ์ให้มากกว่านี้ แต่ก็ชี้ว่าชนวนเหตุสำคัญคือวิกฤตด้านความมั่นคงในลิเบียซึ่งเป็นจุดที่ผู้อพยพลอบเดินทางออกมา ไม่ใช่การดำเนินปฏิบัติการช่วยชีวิตจากทั้งสองรูปแบบ

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น