8 ชาติร้องคณะมนตรีความมั่นคง UN หารือวิกฤตโรฮิงญา
8 กุมภาพันธ์ 2018
อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ และอีก 5 ชาติ ได้ร้องขอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หารือถึงวิกฤติผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาหลายแสนคนที่ต้องหนีตายออกจากพม่า
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จะจัดการประชุมหารือในวันอังคารเพื่อรับฟังนายฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ รายงานสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากการปราบปรามของกองทัพในรัฐยะไข่ของพม่าที่เริ่มต้นตั้งแต่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา
สวีเดน โปแลนด์ เนเธอร์แลนด์ คาซัคสถาน และอิเควทอเรียลกินี ได้ร่วมเรียกร้องการหารือด้วย
การประชุมครั้งนี้มีขึ้นเกือบ 3 เดือน หลังคณะมนตรีความมั่นคง มีคำแถลงเรียกร้องให้พม่าควบคุมกองกำลังรักษาความมั่นคงของประเทศ และอนุญาตให้ชาวโรฮิงญาเดินทางกลับไปบ้านของตนเอง
ชาวโรฮิงญามากกว่า 750,000 คน ถูกปฎิบัติการทางทหารรุนแรงขับไล่รุนแรงขับไล่ออกจากพม่า โดยชาวโรฮิงญาเปิดเผยว่าถูกล่าสังหาร ข่มขืน และวางเพลิงเผาหมู่บ้าน
บังกลาเทศ และพม่าเห็นพ้องกันเมื่อเดือนที่แล้วในการส่งชาวโรฮิงญากลับประเทศในระยะเวลา 2 ปี แต่สหประชาชาติแสดงความวิตกหลังสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติไม่มีส่วนร่วมในข้อตกลงนี้
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ มีมติในเดือนธันวาคม ที่ขอให้ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ แต่งตั้งทูตพิเศษประจำพม่า แต่การแต่งตั้งดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น
ขณะที่จีน และรัสเซีย ซึ่งรับปากพม่าที่จะปกป้องจากการถูกเล่นงานโดยมติของสหประชาชาติต่างร่วมกันใช้สิทธิยับยั้งในที่ประชุมคณะมนตรี ขณะที่รัฐบาลพม่าภายใต้การนำของนางอองซาน ซูจี ก็ได้ปฏิเสธการเดินทางเยือนรัฐยะไข่ของคณะทูต โดยระบุว่า ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมสำหรับการเดินทางเยือนพม่า