ผู้นำอาเซียนเหลวปกป้องโรฮิงญา อ้างมันเป็นปัญหาที่”ซับซ้อนมาก”

ผู้นำออสเตรเลีย และชาติสมาชิกอาเซียนล้มเหลวในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพม่าต่อชาวโรฮิงญา อ้างผู้นำพม่าชี้แจงว่าเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมาก

ผู้นำจากชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่ร่วมการประชุมเป็นเวลา 3 วัน ที่นครซิดนีย์ ยังเห็นพ้องกันที่จะทำงานใกล้ชิดมากขึ้นเพื่อจัดการกับภัยอันตรายที่เพิ่มขึ้นจากความรุนแรงของกลุ่มหัวรุนแรง

แม้คำแถลงร่วมสุดท้ายจะระบุถึงการแก้ปัญหาเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชน แต่กลับล้มเหลวที่จะประณามปฎิบัติการทางทหารรุนแรงของพม่าที่ปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาที่เป็นชาติสมาชิกอาเซียน

ชาวโรฮิงญาราว 700,000 คน หนีตายจากปฎิบัติการรุนแรงทางทหารของพม่าในรัฐยะไข่ไปยังบังกลาเทศที่เริ่มต้นความรุนแรงรอบใหม่ตั้งแต่ 25 สิงหาคมปีที่ผ่านมา ซึ่งสหประชาชาติเรียกปฎิบัติการดังกล่าวว่าเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์

“เราหารือถึงสถานการณ์ในรัฐยะไข่เป็นเวลานานในวันนี้ อองซานซูจีกล่าวถึงประเด็นนี้อย่างครอบคลุมและค่อนข้างยาวพอสมควร มันเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมาก ทุกคนพยายามที่จะยุติความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้ง” นายกรัฐมนตรีมัลคอล์ม เทิร์นบูล ของออสเตรเลีย กล่าวในการแถลงข่าวปิดการประชุมในวันอาทิตย์(18 มีนาคม)

นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ของสิงคโปร์ กล่าวว่า วิกฤติดังกล่าวเป็นความกังวลของทุกชาติสมาชิกอาเซียน แต่อาเซียนไม่สามารถเข้าแทรกแซงเพื่อบังคับให้เกิดผลได้

สำหรับความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้นำในระดับภูมิภาค เนื่องจากจีนยังคงสร้างเกาะเทียมที่สามารถรองรับการติดตั้งและเสริมกำลังทางทหาร และอ้างสิทธิเกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้

เวียดนามยังคงเป็นแกนนำที่แสดงความวิตกถึงประเด็นปัญหาดังกล่าว หลังฟิลิปปินส์เสียงอ่อนลงภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ที่เป็นมิตรกับจีน ขณะที่ไต้หวัน มาเลเซีย และบรูไน ซึ่งอ้างสิทธิเหนือน่านน้ำบางส่วนในทะเลจีนใต้เช่นกัน

ออสเตรเลียและอาเซียนยืนยันความสำคัญของการรักษาและส่งเสริมความสงบสุข เสถียรภาพ และความปลอดภัยและความมั่นคงทางทะเล เสรีภาพในการเดินเรือและการบินในภูมิภาค โดยไม่กล้าที่จะระบุชื่อประเทศจีน

ผู้นำประเทศอาเซียนยังระบุว่าพวกเขาต้องการที่จะเห็นบทสรุปของระเบียบปฏิบัติในทะเลจีนใต้ที่มีประสิทธิภาพ

“เราจะยึดมั่นในฉันทามติของเราต่อกฎระเบียบและกฎหมายระหว่างประเทศในภูมิภาค รวมทั้งทะเลจีนใต้” นายกฯ ออสเตรเลียกล่าวย้ำ

ในวันที่ 2 ของการประชุมสุดยอดเมื่อวันเสาร์ (17) ที่ประชุมมุ่งเน้นในเรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย และข้อตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับกลุ่มหัวรุนแรงท่ามกลางความวิตกที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการใช้ “Dark Web” เว็บไซต์ที่ตั้งใจซ่อนอำพรางการเข้าถึง ปกปิดข้อมูลผู้อยู่เบื้องหลัง หรือแอปลิเคชั่นส่งข้อความเข้ารหัสโดยผู้ก่อการร้ายที่วางแผนโจมตี

ความหวาดวิตกยิ่งเพิ่มสูงขึ้นจากปฎิบัติการของสหรัฐฯ และรัสเซีย ในซีเรีย ที่อ้างว่ายึดครองพื้นที่เกือบทั้งหมดของกลุ่มดาอิชได้ ที่อาจทำให้กลุ่มเหล่านี้กลับมาก่อเหตุในประเทศบ้านเกิดมากขึ้น

นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ของมาเลเซีย อ้างถึงการอพยพของโรฮิงญาพลัดถิ่นว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงแบบใหม่ ด้วยผู้คนที่สิ้นหวังเหล่านี้มักถูกโน้มน้าวให้มีแนวคิดหัวรุนแรงได้ง่าย

ปัญหาสิทธิมนุษยชนก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงในระหว่างการประชุมสุดยอด ประชาชนหลายพันคนรวมตัวกันกล่าวตำหนินางอองซานซูจี นายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชา และนายกรัฐมนตรีเหวียน ซวน ฟุ้ก ของเวียดนาม ที่ถูกกล่าวหาว่าปราบปรามด้านสิทธิมนุษยชน

ความคิดเห็น

comments