อัยการศาลโลกหาช่อง จับพม่าขึ้นศาลโลกกรณีโรฮิงญา

อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ได้ตั้งคำถามถึงขอบเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศว่าจะสามารถดำเนินคดีกับพม่าในกรณีที่ชาวโรฮิงญาราว 700,000 คนหนีตายจากการปราบปรามทางทหารของพม่าไปยังบังกลาเทศ ถือว่าเข้าข่ายคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติหรือไม่ พร้อมกับร้องขอให้ศาลเปิดให้มีการไต่สวนเพื่อรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

หากมีการยืนยันว่าศาลอาญาระหว่างประเทศมีขอบเขตอำนาจในการพิจารณาคดี ก็จะเป็นการปูทางให้นางฟาตู เบนซูดา อัยการประจำศาลเริ่มต้นกระบวนการสอบสวนต่อกรณีการไหลบ่าออกนอกประเทศของชาวโรฮิงญาหลายแสนคน แม้ว่าพม่าจะไม่ให้ความร่วมมือก็ตาม

ในการยื่นเรื่องเพื่อขอให้มีการพิจารณาดังกล่าว นางเบนซูดาระบุว่าคำถามดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงคำถามในทางทฤษฎี แต่เป็นคำถามที่มีน้ำหนักและเป็นรูปธรรม เพราะเกี่ยวข้องกับการพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่าศาลมีขอบเขตอำนาจในการสอบสวนและดำเนินคดีหรือไม่

ขณะที่การเนรเทศผู้คนออกนอกประเทศซึ่งทำให้เกิดอพยพไหลบ่าข้ามพรมแดนของผู้คนจำนวนมากควรถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติหรือไม่ ซึ่งหากศาลอาญาระหว่างประเทศตัดสินว่าศาลมีขอบเขตอำนาจในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ก็เท่ากับเป็นการสร้างความชอบธรรมในทางกฎหมายที่จะเริ่มต้นกระบวนการในการสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

อย่างไรก็ดีอัยการเบนซูดารับว่ามีความไม่แน่นอนอยู่มากเกี่ยวกับการตีความคำว่าอาชญากรรมจากการเนรเทศออกนอกประเทศ รวมถึงข้อจำกัดในขอบเขตอำนาจศาล แต่หากคำขอของอัยการผ่านการพิจารณาก็จะถือเป็นครั้งแรกที่ศาลอาณาระหว่างประเทศรับพิจารณาเรื่องในกรณีเช่นนี้

ก่อนหน้านี้ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย กล่าวในระหว่างพิธีสวนสนามเนื่องในวันกองทัพพม่าเรียกชาวโรฮิงญาว่า “เบงกาลี” ซึ่งเป็นคำที่ใช้เพื่อกล่าวหาชาวมุสลิมโรฮิงญานี้ว่าเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ และกล่าวว่า ชนกลุ่มนี้ไม่มีลักษณะหรือวัฒนธรรมที่เหมือนกันกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ของพม่า

“ความตึงเครียดลุกโหมขึ้นเพราะเบงกาลีเรียกร้องสิทธิความเป็นพลเมือง” ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวชี้ถึงเหตุปรามปรามทางทหารที่รุนแรงต่อชาวโรฮิงญาโดยไม่ได้อ้างถึงความรุนแรงที่เป็นผลมาจากกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญา อย่างที่ทางการพม่าอ้างถึงก่อนหน้านี้แต่อย่างใด

ความคิดเห็น

comments