ศอ.บต.เยี่ยมโรฮิงญา ช่วยเหลือตามอนุสัญญาสิทธิเด็กและหลักสิทธิมนุษยชน

ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.รุดเยี่ยมผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่ห้องกักตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จ.สงขลา เพื่อให้ความช่วยเหลือตามอนุสัญญาสิทธิเด็กและหลักสิทธิมนุษยชน

วันอังคาร (29 พฤษภาคม) นางกนกรัตน์ เกื้อกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมด้วย นางรอซิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเจ้าหน้าที่จากสำนักบริหารงานยุติธรรม ศอ.บต., จนท.บ้านพักเด็กและครอบครัว จ.สงขลา และ จนท.UNSCR ได้ตรวจเยี่ยมและรับฟังสภาพปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองที่มีสถานะผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ณ ห้องกักตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จ.สงขลา โดยมี พ.ต.อ.ชูณรงค์ ยิ่งยงดำรงกุล ผกก.ตม.จว.สงขลา ให้การต้อนรับและบรรยายสถานการณ์

นางกนกรัตน์ เกื้อกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า จากการที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อเดือนกันยายนปี 2559 ณ สหรัฐอเมริกา ว่าไทยจะไม่เลือกปฏิบัติต่อมวลมนุษยชาติ เพื่อนำไปสู่การสร้างสันติภาพและความมั่นคง โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านและผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน จากถ้อยแถลงดังกล่าว นำไปสู่มาตรการดูแลปกป้องคุ้มครองเด็กทุกคนในประเทศไทย ไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ โดยเฉพาะกลุ่มโยกย้ายถิ่นฐาน ที่มีฐานะหลบหนีเข้าเมืองคนเดียวหรือมาพร้อมครอบครัว จะต้องไม่ให้มีเด็กอยู่ในห้องกักขัง ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองเด็กตามอนุสัญญาสิทธิเด็ก ตามหลักสิทธิมนุษยชน

กรณีความรุนแรงระหว่างคนพม่าและชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า ทำให้เกิดการอพยพถิ่นฐานของชาวโรฮิงญา ซึ่งรัฐบาลพม่าปฏิเสธว่าโรฮิงญามิใช่คนพม่า ทำให้ชาวโรฮิงญาได้อพยพทิ้งถิ่นฐาน ตั้งแต่ช่วงปี 2555 เป็นต้นมา จุดมุ่งหมายคือประเทศมาเลเซีย เป็นประเทศมุสลิมที่โรฮิงญาเชื่อว่าสามารถตั้งถิ่นฐานมีงานทำได้ โดยใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านใช้ จ.สงขลาเป็นจุดพัก ก่อนจะหลบหนีเดินทางเข้ามาเลเซีย โดยใช้เส้นทางธรรมชาติทั้งทางบกและทางน้ำ

ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า กรณีโรฮิงญาที่หลบหนีเข้าเมือง ไม่เข้าข่ายว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จะถูกควบคุมตัวตาม พรบ.ตรวจคนเข้าเมือง และจะถูกควบคุมในห้องกักของ ตม. เพื่อผลักดันส่งกลับประเทศต้นทาง มีโรฮิงญาบางครอบครัวที่เดินทางมาพร้อมกับเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ซึ่งจะถูกควบคุมตัวพร้อมกับผู้ปกครองในฐานะหลบหนีเข้าเมือง เช่น ครอบครัวของ นายมูบารซะ เดินทางพร้อมภรรยาและบุตรชายอายุ 3 ปี เมื่อปี 2558 ซึ่งพันธกรณีระหว่างประเทศและอนุสัญญาสิทธิเด็ก เด็กทุกคนจะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองดูแล โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติตามเชื้อชาติ หลายฝ่ายได้ความพยายามที่จะนำเด็กออกจากห้องกัก เพื่อเด็กจะได้รับการดูแลตามวัยและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อพัฒนา

“ทาง ศอ.บต.ได้ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ จากการรับฟังข้อมูลพบว่ามีเด็กโรฮิงญาในห้องกักอีกจำนวน 4 คน เป็นเด็กหญิง 2 คน และเด็กชาย 2 คน พัฒนาการเด็กเป็นสิ่งที่สำคัญยึดประโยชน์สูงสุดของเด็ก แต่ด้วยกรอบกฎหมายภายในประเทศ ที่ยังไม่มีมาตรการรองรับที่ชัดเจน ทำให้เด็กบางคนต้องเติบโตในห้องกัก โดยเฉพาะครอบครัว นายมูบาระ ที่ขอลี้ภัยไปประเทศที่ 3 คือ อเมริกา แต่กระบวนการต้องใช้เวลานานหลายปี เราจึงได้มาสร้างความเข้าใจกันเพื่อจะได้ให้ความช่วยเหลือและสร้างโอกาสที่เด็กจะได้ออกไปอยู่ในสถานที่เหมาะสม ขอให้พ่อกับแม่ออกไปด้วย

“ซึ่งตามกฎหมายต้องมีผู้ประกันตัวพ่อแม่ออกไป โดยมีหลักทรัพย์ประกันขั้นต่ำ 50,000 บ./คน ต้องหาบุคคลที่พร้อมประกันภายใต้เงื่อนไขว่า หากประกันแล้วจะไม่มีการหลบหนี หากหลบหนีโอกาสที่จะไปอยู่อเมริกาจะหมดไป และหากประกันแล้วต้องหาสถานที่เหมาะสมที่ครอบครัวนี้ไปอยู่ และพร้อมมารายงานตัวตามที่ตกลงการประกันไว้ เช่น รายงานตัวเดือนละครั้งออกไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานรัฐบาลไทย กรณีครอบครัวนี้ การที่จะแยกกับภรรยาไปกับลูกนั้นเป็นสิ่งที่ทั้งคู่ยอมรับไม่ได้” นางกนกรัตน์ เกื้อกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าว

ความคิดเห็น

comments