3 ทารกน้อยอพยพจมน้ำตาย ขณะ EU รวมหัวส่งผู้ลี้ภัยกลับชาติต้นทาง

ทารกน้อย 3 ศพ ลอยตายนอกชายฝั่งลิเบีย หลังเรือที่บรรทุกผู้อพยพกว่า 100 คนล่มเมื่อวันศุกร์ที่(29 มิถุนายน)ผ่านมา ขณะที่นายกรัฐมนตรีเยอรมัน จับมือ 14 ชาติสมาชิกอียูทำข้อตกลงใหม่สำหรับส่งคืนตัวผู้ขอลี้ภัย

เรดิโอฟรียุโรปรายงานเมื่อวันเสาร์(30)ว่า ข้อตกลงของ 14 ชาติสมาชิกอียูถูกเปิดเผยในหนังสือเวียนจากนายกรัฐมนตรีเยอรมัน อังเกลา แมร์เคิล แจ้งต่อ ผู้นำของ 2 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลเยอรมัน ซึ่งเอกสารดังกล่าวถูกเผยในวันเสาร์(30)

ข้อตกลงใหม่นี้มีจุดประสงค์ต้องการให้ประเทศเหล่านี้รับตัวกลุ่มผู้อพยพที่ได้เคยลงทะเบียนใน 28 ประเทศสมาชิกอียูโซนก่อนหน้าเข้าสู่เยอรมัน แต่อย่างไรก็ตาม 3 ประเทศที่ถูกระบุในหนังสือเวียนคือ ฮังการี สาธารณรัฐเชก และโปแลนด์ ต่างออกมาปฎิเสธข้อตกลงนี้

“เยอรมันไม่ได้เข้ามาถามเราในเรื่องนี้ และในขณะนี้ ผมจะไม่รับรองข้อตกลงประเภทนี้อย่างแน่นอน…ทางเราไม่ได้วางแผนที่จะมีการเจรจาต่อรอง ไม่มีเหตุผลในการต้องเจรจา ทางเราขอปฎิเสธโดยสิ้นเชิง” นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเชก อันเดรจ บาบิซ(Andrej Babis) ระบุในคำแถลง

โดยในเอกสารหนังสือเวียน นายกรัฐมนตรีเยอรมันระบุว่า กลุ่มผู้ลี้ภัยที่เดินทางเข้าเยอรมันหลังจากที่ได้ลงทะเบียนครั้งแรกในประเทศยุโรปอื่นแล้ว สมควรที่จะถูกส่งเข้าศูนย์ผู้อพยพพิเศษภายในเขตยูโรโซนสำหรับรอกระบวนการพิจารณาขอสถานะผู้ลี้ภัย

ขณะที่สำนักข่าว DW ของเยอรมันระบุว่า แมร์เคิลเรียกร้องให้ตั้งศูนย์ทอดสมอ(Anchor centers) โดยในเอกสารที่ถูกส่งต่อระบุว่า จะเป็นศูนย์ขนาดใหญ่ที่ตั้งขึ้นภายในพรมแดนเยอรมันในกระบวนการพิจารณาการขอลี้ภัยของผู้อพยพ

ขณะที่หนังสือพิมพ์เยอรมัน DPA พบว่า นายกรัฐมนตรีเยอรมันมีแนวคิดต้องการส่งตำรวจเยอรมันไปบัลแกเรียเพื่อร่วมตรวจการพรมแดนด้านนอกของหสภาพยุโรป

และในรายงานยังชี้ว่า ข้อตกลงส่งตำรวจเยอรมันนี้ได้บรรลุแล้วกับรัฐบาลบัลแกเรียแล้ว “ทางเราต้องพร้อมที่จะช่วยสนับสนุน”สโลเวเนีย” และ “โครเอเชีย” ในการควบคุมพรมแดนหากจำเป็น” แมร์เคิลกล่าวในหนังสือเวียน

DW รายงานอีกว่า นอกเหนือจากนี้นายกรัฐมนตรีหญิงเยอรมันยังแสดงความต้องการที่จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับฟรอนเทกซ์(Frontex) หรือหน่วยงานควบคุมพรมแดนด้านนอกสหภาพยุโรปสำหรับพรมแดนกรีซติดกับมาเซโดเนียและแอลเบเนียให้ได้ก่อนสิ้นเดือนสิงหาคมที่จะถึง

โดยในคืนวันเสาร์(30) แมร์เคิลได้พบกับรัฐมนตรีมหาดไทยเยอรมัน ฮอร์สต์ ซีโฮเฟอร์ แต่ไม่มีการแถลงหลังการหารือ ซึ่งมีการคาดว่า ข้อตกลงร่วม 14 ชาติอียูจะเพียงพอต่อข้อเรียกร้องของซีโฮเฟอร์ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค CSU ที่เคยข่มขู่ด้วยการประกาศให้ระยะเวลาแค่เดือนกรกฎาคมต่อผู้นำหญิงในการหยุดการไหลเข้าเยอรมันของผู้อพยพ หรือเลือกที่จะเสี่ยงต่อการล้มรัฐบาลผสมที่เธอเป็นผู้นำในเวลานี้

ทั้งนี้ประเทศอื่น ๆที่มีชื่อระบุในหนังสือเวียน รวมไปถึง เบลเยียม เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส ลิทัวเนีย เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก โปรตุเกส และสวีเดน

การเปิดเผยข้อตกลงดังกล่าวของยุโรปเกิดขึ้นในขณะที่ดิอินดีเพนเดนต์ของอังกฤษ รายงานว่า มีผู้อพยพจำนวนราว 100 คน รวมไปถึงทารก 3 คนในเสื้อผ้าสีสดใสถูกพบเป็นศพจมน้ำบริเวณนอกชายฝั่งลิเบียวันศุกร์(29) อ้างอิงจากผู้รอดชีวิตและเจ้าหน้าที่หน่วยงานยามฝั่ง

ซึ่งพบว่ามีผู้อพยพจำนวน 120 คนอยู่บนเรือพายในขณะเกิดเหตุ กลุ่มผู้รอดชีวิตถูกนำตัวขึ้นที่ชายฝั่งของอัล-ฮมิดียา(Al-Hmidiya) ทางตะวันออกกรุงตริโปลี ของลิเบีย

ทั้งนี้ทางการลิเบียสามารถช่วยเหลือผู้รอดชีวิตได้เพียง 16 คน และรวมไปถึงยังสามารถค้นพบศพเด็กทารกได้ 3 ราย

โฆษกหน่วยงานยามฝั่งลิเบียแถลงการณ์ให้ข้อมูลของผู้รอดชีวิตชาวเยเมนระบุว่า มีคนอยู่บนเรือร่วม 120-125 คนที่รวมไปถึงผู้หญิงและเด็กก่อนที่เรือจะล่ม

นอกจากนี้เรือยามฝั่งลิเบียยังสามารถสกัดเรือกลุ่มค้ามนุษย์จำนวน 3 ลำในกำลังขนผู้อพยพจำนวน 345 คนอยู่ทางตะวันออกของกรุงตริโปลี

ในขณะที่อียิปต์และอีก 4 ชาติปฎิเสธแผนช่วยอียูตั้งศูนย์รับผู้อพยพนอกยุโรป

โดยอิยิปต์ออกแถลงการณ์ในวันอาทิตย์(1) ว่าทางอียิปต์จะไม่ยอมสร้างค่ายรับผู้อพยพที่ถูกเนรเทศออกนอกยุโรป การประกาศเกิดขึ้นหลังจากรายละเอียดของข้อตกลงอียูต่อผู้อพยพที่มีขอบเขตกว้างขวางได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยชี้ว่า บรรดาผู้นำชาติยุโรปของอียูกำลังวางแผนที่จะสร้างศูนย์สำหรับผู้ร้องขอสถานภาพผู้ลี้ภัยใน “กลุ่มประเทศพันธมิตร” ในภูมิภาคตะวันออกกลาง และทวีปแอฟริกา

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้นำแอลเบเนีย โมร็อกโก ตูนิเซีย และแอลจีเรีย ก็ออกมาปฎิเสธแผนสร้างศูนย์รับผู้อพยพของอียูเช่นกัน

“ศูนย์รองรับของอียูสำหรับกลุ่มคนเข้าเมืองในดินแดนอียิปต์จะขัดต่อกฎหมายและกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศของเรา” อาลี อับดุล อาล(Ali Abdel Aal) ประธานสภาอียิปต์กล่าวให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เยอรมัน เวลต์ อาม โซนน์ทาก(Welt am Sonntag)

ความคิดเห็น

comments