อินเดียลงนามสั่งให้การหย่าแบบอิสลามเป็นความผิดอาญา

เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา นายระวี ชันการ์ ปราสาท (Ravi Shankar Prasad) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกฎหมายและความยุติธรรมของอินเดีย แถลงว่า รัฐบาลถูกบังคับให้ต้องออกคำสั่งผู้บริหาร กำหนดให้พฤติกรรมการกล่าวคำหย่า 3 ครั้งในทันที เป็นพฤติกรรมที่เป็นความผิด หลังจากกฎหมายดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา การปฏิบัติดังกล่าวยังคงมีอยู่ แม้จะมีคำสั่งจากศาลห้ามการกระทำนี้เมื่อปีที่ผ่านมา

เว็บไซด์ ทางนำ รายงานจากอัล-ญะซีเราะห์ว่าภายใต้คำสั่งใหม่ของรัฐบาล ตำรวจจะเริ่มเข้าไปรับรู้ในการกระทำความผิด ต่อเมื่อผู้ถูกกระทำ หรือพี่-น้องร่วมสายโลหิตยื่นแจ้งความ และศาลจะพิจารณาว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ ก็ต่อเมื่อได้มีการรับฟังเรื่องราวจากฝ่ายภรรยาแล้วเท่านั้น

ภายใต้กฎหมายที่เสนอไว้ ชายมุสลิมที่ต้องการเลิกร้างกับภรรยาโดยการกล่าวคำ “ฉันหย่าเธอ” 3 ครั้งโดยทันที จะต้องถูกปรับเงิน และลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี

รัฐบาลของนายนเรนทรา โมดี เสนอร่างกฎหมายสตรีมุสลิม (คุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับการแต่งงาน) Bill 2017 เมื่อปีที่ผ่านมา แต่ร่างกฎหมายไม่ผ่านสภาเนื่องจากมีความไม่เห็นพ้องต้องกัน โดยพรรคฝ่ายค้านวิพากษ์วิจารณ์บทบัญญัติบางบทของร่างกฎหมาย รวมทั้งการจับกุมที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัว

เมื่อปีที่ผ่านมา ศาลสูงได้สั่งห้ามพฤติกรรมกล่าวคำหย่าทันที 3 ครั้ง โดยว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ

หลายประเทศมุสลิม อาทิ ตุรกี กาต้าร์ ปากีสถาน และซาอุดี้อาระเบีย ได้สั่งห้ามการกล่าวคำหย่า 3 ครั้งโดยทันที อินเดียซึ่งมีประชากรมุสลิมมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก อนุญาตให้ผู้นับถือศาสนาต่างๆ รวมทั้งมุสลิมสามารถควบคุมกิจการต่างๆ เช่น การแต่งงาน การหย่าร้าง และการรับมรดก ผ่านกฎหมายของพวกเขาเอง

การรณรงค์หลายสิบปีที่ผ่านมาโดยกลุ่มสิทธิสตรี และผู้ตกเป็นเหยื่อของพฤติกรรมนี้ ได้นำไปสู่การที่ศาลฎีกาได้ตัดสินให้ยกเลิกการปฏิบัตินี้เมื่อปีที่ผ่านมา แม้ว่านักวิชาการและนักวิเคราะห์ที่เป็นมุสลิม ได้ถกเถียงในเรื่องนี้ว่า จำนวนชายมุสลิมอินเดียที่ทำพฤติกรรมกล่าวคำหย่า 3 ครั้งโดยทันทีเกิดขึ้นเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์

เซีย อัส สลาม ผู้แต่งหนังสือเรื่อง Till Talaq Do Us Part กล่าวว่า พฤติกรรมการกล่าวคำหย่า 3 ครั้งโดยทันที ไม่ได้มีการอนุญาตในอัล-กุรอาน เพราะกุรอานวางกรอบไว้อย่างชัดแจ้ง ถึงขั้นตอนต่างๆ ของการหย่า และมุสลิมทุกคนควรต้องดำเนินตามขั้นตอนเหล่านั้น “ในอัล-กุรอานไม่ได้มีระบุไว้ตรงไหนเลยถึงการหย่าแบบกล่าวคำพูด 3 ครั้งโดยทันที” และอุละมะอฺหรือผู้รู้มุสลิมในอินเดีย ควรต้องหาวิธีในการรับมือกับเรื่องนี้ในกลุ่มของตนเอง และหาทางปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมผิดๆ ในสังคม

เซียกล่าวสรุปว่า การที่ศาลฎีกาของอินเดียพิพากษาให้การกล่าวคำหย่า 3 ครั้งโดยทันที เป็นการกระทำที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ เท่ากับเป็นการตอกย้ำในสิ่งที่อัล-กุรอานบอกไว้แล้วเท่านั้น

ความคิดเห็น

comments