พม่าป้องซูจี หลังถูกยึดคือรางวัล “ทูตแห่งความดี”

เจ้าหน้าที่ และประชาชนชาวพม่าต่างออกมาปกป้องนางอองซานซูจี ในวันอังคาร (13 พฤศจิกายน) หลังองค์การนิรโทษกรรมสากลถอดรางวัลเกียรติยศสูงสุดของพวกนาง อันเนื่องจากที่ซูจีในฐานะผู้ปกครองพม่า แต่ปล่อยให้มีการกระทำอันโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับชาวมุสลิมโรฮิงญา

ชื่อเสียงในระดับสากลของซูจีในฐานะนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนกำลังป่นปี้ และความเคลื่อนไหวขององค์การนิรโทษกรรมสากลถือเป็นการถอดรางวัลระดับโลกครั้งล่าสุด จากที่เคยเกิดขึ้นหลายครั้งก่อนหน้านี้จากหน่วยงานองค์กรต่างๆ เช่น ในเดือนก่อน แคนาดาได้ถอดสถานะพลเมืองกิตติมศักดิ์ที่เคยมอบให้แก่ซูจี และพิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสหรัฐฯ ได้ถอดรางวัลสิทธิมนุษยชนเมื่อเดือนมีนาคม

สำหรับรางวัลทูตแห่งความดีที่องค์การนิรโทษกรรมสากลมอบให้แก่ซูจีในปี 2009 ยังเคยมอบให้แก่บุคคลสำคัญอื่นๆ อาทิเช่น เนลสัน แมนเดลา, มาลาลา ยูซาฟไซ และอ้าย เว่ย เว่ย เพื่อนร่วมรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

“วันนี้ เรารู้สึกท้อใจอย่างที่สุดที่คุณไม่ได้เป็นสัญลักษณ์แห่งความหวัง ความกล้าหาญ และผู้พิทักษ์ปกป้องสิทธิมนุษยชนได้อีกต่อไป” คูมิ ไนดู เลขาธิการองค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุในจดหมายที่ส่งถึงซูจี และเผยแพร่ต่อสาธารณะ

“องค์การนิรโทษกรรมสากลไม่สามารถที่จะรับรองสถานะของคุณต่อในฐานะผู้รับรางวัลทูตแห่งความสำนึกดีได้อีกต่อไป และด้วยประการนี้ เราจึงขอเพิกถอนรางวัลจากคุณด้วยความเศร้าใจยิ่ง” องค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุ

แต่แทนที่ชาวพม่าจะตระหนักต่อวิกฤตที่เกิดจากการถอดถอนรางวัลต่างๆ ของนานาชาติที่ไม่เพียงแค่ส่งผลกระทบต่อศักดิ์ศรีของซูจี แต่ยังรวมถึงสมาชิกพรรค NLD ทั้งหมด

โดยโฆษกพรรค NLD ของซูจีกล่าวอ้างว่า ความเคลื่อนไหวขององค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการสมคบคิดอย่างกว้างขวาง

“องค์กรต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมดกำลังทำงานให้เบงกาลีที่ออกจากประเทศไปเพื่อเรียกร้องสัญชาติ” เมียว ยุ้น โฆษกพรรค NLD กล่าวอ้างโดยใช้คำว่าเบงกาลี ที่ทหารพม่าใช้เรียกชาวโรฮิงญา

อ่อง หล่า ตุน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงข้อมูลข่าวสาร กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วเขารู้สึกเสียใจและผิดหวังกับการประกาศขององค์การนิรโทษกรรมสากล และระบุว่า ซูจีกำลังได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

“ความเคลื่อนไหวเช่นนี้มีแต่จะยิ่งทำให้ประชาชนรักเธอมากขึ้น” อ่อง หล่า ตุน กล่าว

ประชาชนชาวพม่าตามท้องถนนในนครย่างกุ้งต่างแสดงความเห็นถึงการปลดรางวัลที่เกิดขึ้นดังกล่าว

“การถอดรางวัลของพวกเขาเหมือนการกระทำของพวกเด็กๆ ที่เมื่อเด็กเข้ากันไม่ได้ก็หยิบของเล่นคืน” ขิ่น หม่อง เอ อายุ 50 ปี กล่าว

“เราไม่ต้องการรางวัลพวกเขา” เต เต ชาวพม่าอายุ 60 ปี กล่าว

ชาวโรฮิงญามากกว่า 720,000 คน หนีตายจากการปราบปรามทางทหารของพม่าที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 25 สิงหาคม 2560 โดยการกระทำที่ทารุณโหดร้าย ทั้งการสังหาร การข่มขืน การทรมาน และการวางเพลิง ที่สหประชาชาติเรียกว่าเป็นการกวาดล้างทางชาติพันธุ์

ความคิดเห็น

comments