แรงไม่หยุด!! ม็อบยะไข่ต้านรัฐฯ รับโรฮิงญากลับ

ชาวพม่าในรัฐยะไข่รวมตัวชุมนุมประท้วงกันในวันอาทิตย์ (25 พฤศจิกายน) ต่อต้านการรับตัวชาวมุสลิมโรฮิงญาที่หนีตายจากการปราบปรามทางทหารของพม่าไปลี้ภัยอยู่ในบังกลาเทศกลับพม่า

ชาวพม่าราว 100 คน ภายใต้การนำของกลุ่มพระสงฆ์ เดินขบวนไปทั่วเมืองสิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ พร้อมกับถือป้ายสีแดง และร้องตะโกนคำประท้วง

“ทุกคนในชาติมีหน้าที่ที่จะต้องปกป้องความมั่นคงของชาติ จะไม่เกิดประโยชน์อะไรต่อเราหรือประเทศของเราถ้าเรายอมรับเบงกาลี” พระสงฆ์รูปหนึ่ง กล่าวถึงชาวโรฮิงญาด้วยคำว่าเบงกาลี ในที่ชุมนุมประท้วงซึ่งถ่ายทอดผ่านทางเฟซบุ๊กโดยที่ไม่ถูกบล็อก

ขณะที่เฟซบุ๊กยอมรับก่อนหน้านี้ว่าพวกเขาดำเนินการไม่เพียงพอในการขัดขวางไม่ให้มีการแพร่กระจ่ายความรุนแรงผ่านทางช่องทางของเฟซบุ๊ก แต่ก็รับปากจะดำเนินการให้มากขึ้น

การชุมนุมประท้วงเกิดขึ้น 10 วัน หลังจากทางการบังกลาเทศ และพม่าตกลงที่จะเริ่มกระบวนการอย่างเป็นทางการ ส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่หลบหนีการปราบปรามทางทหารที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ 25 สิงหาคม 2560 กลับพม่า

ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในบังกลาเทศ กล่าวว่า กองกำลังทหารของพม่าข่มขืนผู้หญิง สังหารญาติพี่น้องของพวกเขา และเผาบ้านเรือน เพื่อขับไล่พวกเขาออกจากประเทศ

แม้ข้อตกลงที่จะส่งผู้ลี้ภัยกลับพม่าบรรลุกันตั้งแต่ปีก่อน แต่การส่งกลับไม่เคยเกิดขึ้นจนถึงขณะนี้ และความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาในพื้นที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้านชาวโรฮิงญาตามค่ายต่างๆ เองก็ยังรู้สึกหวาดกลัวที่จะต้องเดินทางกลับโดยไร้ซึ่งการรับรองสถานะพลเมือง ความปลอดภัย และความเท่าเทียมในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพและการศึกษา

นอกจากนั้น พวกเขายังวิตกกังวลถึงความรู้สึกเป็นศัตรูจากบรรดาชาวเมืองที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ ซึ่งหลายคนไม่ต้องการที่จะให้โรฮิงญาเดินทางกลับมายังที่อยู่อาศัยเดิมของพวกเขา ซึ่งปัจจุบันหลายพื้นที่ถูกทางการยึดไปแล้ว

ปรากฎการณ์ต่อด้านชาวโรฮิงญายังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านผู้ชุมนุมชาวพุทธที่ประท้วงกันในเมืองสิตตะเวเมื่อวันอาทิตย์ ซึ่งเห็นได้จากป้ายประท้วงที่เรียกร้องให้ทางการดำเนินมาตรการกับผู้อพยพผิดกฎหมาย และไม่อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยที่หลบหนีไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่

ผู้สืบสวนของสหประชาชาติได้เรียกร้องให้นายทหารระดับสูงของกองทัพพม่าถูกฟ้องดำเนินคดีจากข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือศาลเฉพาะกิจ แต่ฝ่ายพม่าปฏิเสธเกือบทุกข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำทารุณต่างๆ โดยอ้างว่า พม่ากำลังปกป้องตนเองจากกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญา

การชุมนุมประท้วงต่อต้านชาวโรฮิงญาเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติในเมืองสิตตะเว พื้นที่ที่เกิดเหตุความรุนแรงระหว่างชุมชนในปี 2555 ที่เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน และยังทำให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 120,000 คน ถูกกักขังอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศจนถึงทุกวันนี้

ความคิดเห็น

comments