ฝนหนาวทำอากาศสหรัฐติดลบ น้ำตกกลายเป็นน้ำแข็ง

ฝนที่มีความเย็นระดับขั้วโลกตกหนัก 2 วันติดกันส่งผลทำให้สนามบินรัฐเทกซัสและรัฐโอกลาโฮมาสั่งยกเลิกเที่ยวบินถึง 1,600 เที่ยวบิน ในขณะที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ เช่น รัฐนิวยอร์ฏยังต้องผจญความหนาวที่ต่ำสุดในรอบ 81 ปี ติดลบ 11 จนถึง ติดลบ 24 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งสภาพอากาศความเย็นจัดทำให้บางส่วนของน้ำตกไนแอกาลาจับตัวแข็ง

เอพีรายงานเมื่อวานนี้(28 กุมภาพันธ์)ว่า ฝนเย็นจัดขนาดขั้วโลกที่ตกในบางส่วนของรัฐเทกซัสและรัฐโอกลาโฮมาถึง 2 วันติดต่อกันส่งผลทำให้ถนนไฮย์เวย์ระหว่างรัฐลื่น และรัฐเทกซัสต้องประกาศยกเลิกเที่ยวบินเพิ่มขึ้นในวันเสาร์(28 กุมภาพันธ์)ที่สนามบันนานาชาติดัลลัส-ฟอร์ตเวิร์ต ซึ่งถือเป็นหนึ่งในฮับสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก หลังจากก่อนหน้านั้นในวันศุกร์(27 กุมภาพันธ์)มีการประกาศยกเลิกเที่ยวบินราว 600 เที่ยว และทำให้ผู้โดยสารร่วม 5,000 คนต้องนอนค้างที่สนามบิน เดวิด แมกนา โฆษกประจำสนามบินกล่าว โดยทางสนามบินได้อำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารตกค้างไม่ว่าจะเป็นผ้าห่ม เปลสนาม ห้องน้ำ และยังเปิดบริเวณเช็กอินให้กับผู้โดยสารตลอดทั้งคืน

ด้านสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์สแถลงว่า หนึ่งในเที่ยวบินจากสนามบินดัลลัส-ฟอร์ตเวิร์ตไปยังสนามบินโอกลาโอมาที่ตามปกติใช้เวลาการเดินทางไม่ถึงชั่วโมง แต่กลับทำให้ผู้โดยสารต้องใช้เวลาร่วม 9 ชม.เพื่อไปยังจุดหมาย “เราขออภัยต่อผู้โดยสารในความไม่สะดวก” แมต มิลเลอร์ โฆษกบริษัทสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์สแถลง และเสริมว่า เครื่องบินดีเลย์ไม่ถึง 3 ชม. ซึ่งในท้ายที่สุด เที่ยวบินที่มีผู้โดยสาร 110 คน และลูกเรืออีก 5 คน ที่แต่เดิมมีกำหนดเดินทางออกจากสนามบินในดัลลัสเวลา 13.45 น.ตามเวลาท้องถิ่นในวันศุกร์(27 กุมภาพันธ์) แต่ต้องหันหัวกลับเนื่องจากลานบินเกิดน้ำแข็งจับตัว และต้องรอเพื่อให้ทางสนามบินละลายน้ำแข็งเหล่านั้น และมิลเลอร์เผยว่า ผู้โดยสารทั้งหมดได้รับอนุญาตให้รออยู่บริเวณเทอร์มินอล เกต และลูกเรือของเครื่องต้องแก้ปัญหากับเครื่องปรับอากาศบนเครื่อง แต่ทว่ามีผู้โดยสารบางคนต้องการที่จะรออยู่บนเครื่อง มิลเลอร์กล่าวต่อ และพบว่ามีการเสริมลูกเรือเข้ามาปฎิบัติงานบนเที่ยวบินที่ต้องเลื่อนเวลาการเดินทางออกไปเพราะระยะเวลาที่ถูกเลื่อน รวมไปถึงกฎการบินสหรัฐฯที่กำหนดว่า ลูกเรือแต่ละคนสามารถปฎิบัติหน้าที่บนเครื่องได้นานเท่าใด มิลเลอร์ให้ความเห็น

น้ำตกเป็นน้ำแข็งในสหรัฐ       นอกจากนี้เจ้าหน้าที่คมนาคมและเจ้าหน้าที่ศูนย์ให้บริการข้อมูลสภาพอากาศสหรัฐฯประกาศเตือนให้ผู้ขับรถหลีกเลี่ยงการใช้ท้องถนนในช่วงวันเสาร์(28 กุมภาพันธ์) จนกว่าจะมีอุณภูมิปรับสูงขึ้น และน้ำแข็งละลาย ซึ่งมีประกาศเตือนภัยหนาวจัดที่ดัลลัส-ฟอร์ตเวิร์ตไปจนถึงคืนวันเสาร์(28 กุมภาพันธ์)

นอกจากนี้ยังพบว่าฝนที่เย็นจัดปกคลุมพื้นที่ร่วม 40 ไมล์ ทางเหนือของออสตินไปจนถึงดัลลัส แอนโธนี เบน เจ้าหน้าที่ศูนย์ให้บริการทางข้อมูลอากาศแห่งชาติประจำดัลลัสแถลง

ด้าน Flightaware.com รายงานเพิ่มเติมว่า มีเที่ยวบินจำนวน 974 เที่ยวถูกประกาศยกเลิกก่อนช่วงเที่ยงวันเสาร์(28 กุมภาพันธ์)ที่สนามบินนานาชาติดัลลัส-ฟอร์ตเวิร์ต และสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ส์ที่ใช้สนามบินแห่งนี้เป็นหลักได้ประกาศยกเลิกเที่ยวบิน 600 เที่ยวหลังจากก่อนหน้านั้นได้สั่งยกเลิกในวันศุกร์(27 กุมภาพันธ์)ไปราว 700 เที่ยว

ในขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งของสหรัฐฯ เกิดสภาพอากาศหนาวจัดมากที่สุดในรอบ 81 ปีที่รัฐนิวยอร์ก ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ซึ่งเดลีเมล สื่ออังกฤษรายงานเมื่อวานนี้(28 กุมภาพันธ์)ว่าเดือนกุมภาพันธ์ถือเป็นเดือนที่หนาวเย็นที่สุดนับตั้งแต่ปี 1934 เป็นต้นมา และพบว่าอุณภูมิในเมืองนั้นอยู่ระหว่าง -11 ถึง -24 องศาฟาเรนไฮต์เท่านั้น แลในขณะที่บอสตัน รัฐแมสซาชูเซตต้องผจญกับสภาพหิมะตกหนักไม่ต่ำกว่า 100 นิ้วในเดือนที่ผ่านมา

นิวยอร์กไทมส์ สื่อสหรัฐฯรายงานว่า สภาพอากาศที่ต่ำสุดนี้เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในปี 1934 โดยพบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วไปในขณะนี้อยู่ที่ 19 องศาฟาเรนไฮต์ในนิวยอร์ก คล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1934 ซึ่งสามารถวัดอุณหภูมิต่ำสุดได้ราว – 15 องศาฟาเรนไฮต์ และ NBC News สื่อสหรัฐฯรายงานเพิ่มเติมว่า “ลมหนาวไซบีเรีย” เป็นตัวการสำคัญทำให้ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกาต้องพบกับสภาพหนาวระดับขั้วโลกครั้งประวัติศาสตร์ และทำให้บางส่วนของน้ำตกไนแองเกลาที่ใหญ่ที่สุดในโลกถึงกับจับตัวแข็ง

ในขณะที่สื่ออังกฤษรายงานเพิ่มเติมว่า บอสตัน รัฐแมสซาชูเซต พบกับหิมะตกหนักถึง 102 นิ้วตลอดในเดือนที่ผ่านมา ส่งผลทำให้บริษัทประกันภัยต้องพบกับคลื่นการโทรศัพท์เพื่อขอรับเงินประกันครั้งมโหฬารจากชาวเมืองที่พบว่าบ้านเรือนเสียหายเนื่องจากทานน้ำหนักหิมะที่ตกหนักทับถมไม่ไหว โดยผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า เสียงดังโครมคราม หรือแคร๊กอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าหลังคาที่พักไม่สามารถทานน้ำหนักหิมะได้ และจะถล่มลงมาในทันที และได้มีการเตือนให้ผู้อยู่อาศัยรีบหลบออกไปหากได้ยินเสียงนี้

ปีเตอร์ จั๊ด โฆษกสำนักงานจัดการภัยพิบัติแห่งแมสซาชูเซตได้ให้สัมภาษณ์กับบอสตันโกลบว่า “หากชาวบอสตันได้ยินเสียงแครก หรือเอียดอ๊าดจากหลังคาบ้าน แสดงว่าต้องมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น แต่หากมีหลายเสียงผสมกันไม่ต้องรีบอพยพออกมา” จั๊ดกล่าว

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น