บุหรี่ตัวการ “ถุงลมโป่งพอง” ตายผ่อนส่ง

แพทย์ชี้ “บุหรี่” ตัวการโรคถุงลมโป่งพอง 90% ย้ำปอดถูกทำลายแล้วกู้คืนไม่ได้ ทำผู้ป่วยทุกข์ทรมานแบบตายผ่อนส่ง แถมโรคแทรกซ้อนเพียบ แบกค่ารักษาพยาบาลกว่า 4 แสนบาทต่อคน วอน นายกฯ ไฟเขียว กม.คุมยาสูบฉบับใหม่

วันนี้ (3 มี.ค.)​ ที่ รพ.ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อ.องครักษ์ จ.นครนายก ศ.นพ.ชัยรัตน์ นิรันตรัตน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลันศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) แถลงข่าว “โรคถุงลมโป่งพอง….ลมหายใจที่ไม่ย้อนกลับ” ว่า โรคถุงลมโป่งพอง เป็นโรคที่มีสาเหตุสำคัญกว่าร้อยละ 90 จากการสูบบุหรี่ เป็นโรคที่มีผลกระทบต่อสังคมไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำและภาครัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาอย่างต่อเนื่องมากถึงกว่า 16,000 ล้านบาทในแต่ละปี

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ นายกสมาคมเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ​​บุหรี่ถือเป็นยาเสพติดที่ยังถูกกฎหมายและทำให้เกิดโรคและภาวะวิกฤตได้ตั้งแต่หัวจรดเท้า มีสารพิษและสารก่อให้เกิดมะเร็งกว่า 80 ชนิด โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับปอดและทางเดินหายใจที่ได้รับสารพิษโดยตรง ซึ่งเมื่อสูบบุหรี่แล้ว สารพิษที่อยู่ในบุหรี่จะทำให้เกิดการระคายเคืองตั้งแต่ทางเดินหายใจและทำลายถุงลมที่อยู่ในปอด ปอดจะมีขนาดเล็กลงและสูญเสียความสามารถไป​จน​ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ส่งผลให้เกิดอาการแน่นหน้าอก เหนื่อย หอบ เพราะมีการเสื่อมลงของปอดอย่าง นอกจากนี้ ยังพบว่าทางเดินหายใจมักจะตีบตันจากการอักเสบ ทำให้หายใจไม่สะดวก ซึ่ง​เมื่อถุงลมในปอดเสียหายจะไม่สามารถรักษาหรือทำให้กลับคืนเป็นปกติอย่างเดิมได้ ​แม้ว่าจะเลิกสูบบุหรี่แล้วก็ตาม ก็ไม่สามารถทำให้ปอดกลับมาเป็นปกติได้ ดังนั้น จึงต้องไม่สูบบุหรี่หรือเลิกสูบให้เร็วที่สุดก่อนเกิดโรค ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือ ป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าถึงบุหรี่ เพราะทันทีที่เริ่มทดลองสูบบุหรี่ โอกาสที่พวกเขาจะเลิกได้มีต่ำมาก และต้องใช้เวลานานกว่าที่จะเลิกสูบบุหรี่ได้ ท้ายที่สุดประเทศไทยก็จะมีจำนวนผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองเพิ่มขึ้นอีก

​​​​​“อาการของโรคปอดอุดกั้นในช่วงแรก มักจะไม่รู้ตัวว่าป่วย​ อาจมีเพียงอาการไอมีเสมหะ แต่เมื่อโรคเดินหน้าไปสักระยะหนึ่ง การทำงานของปอดเสื่อมถอยลง จะเริ่มมีอาการหอบเหนื่อย ในช่วงแรกจะมีอาการเหนื่อยเฉพาะเมื่อออกแรงมากๆ แต่เมื่อโรคเดินหน้าไปมากขึ้น แม้นั่งเฉยๆ หรือนอนอยู่นิ่งๆ ก็ยังเหนื่อย จนในท้ายที่สุดจะไม่สามารถหายใจเองได้ ต้อง​ใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ​เท่านั้น จึงถือเป็นโรคที่สร้างความทรมานและทำให้คุณภาพชีวิตเสื่อมถอย เพราะผู้ป่วยจะทรมานจากอาการของโรคเป็นเวลาหลายปีก่อนตาย” รศ.นพ.ฉันชาย กล่าว

​​​​ผศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา รองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และรองผู้จัดการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมยาสูบ กล่าวว่า กล่าวว่า ในประเทศไทยมีสัดส่วนของผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองมากถึงร้อยละ 7 ของประชากร และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยโรคนี้มีความร้ายแรงยิ่งกว่าถูกโจรปล้นบ้าน เพราะโจรปล้นบ้านได้มากที่สุดก็เพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น และส่วนใหญ่เจ้าของบ้านก็ยังคงมีสุขภาพกายเป็นปกติหลังถูกปล้น แต่โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หาย ตายสถานเดียว ก่อนตายนั้น ผู้ป่วยก็จะได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคนี้อย่างแสนสาหัส เหมือนตายผ่อนส่งทีละน้อย ค่อยๆตาย อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่าย​ด้านการรักษาพยาบาลที่แพง (และไม่หายจากโรค) โดย​ค่ารักษาพยาบาลของโรคนี้​อยู่ที่คนละ 1,500-2,000 บาท​ต่อเดือน ซึ่งระยะเวลาการดำเนินโรคจะนานประมาณ 10-15 ปี คิดเป็นงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยโรคนี้ ประมาณ 400,000-600,000 บาทต่อคน ทั้งนี้ ยังไม่รวมโรคแทรกซ้อนอื่นๆที่เกิดขึ้น ​ เช่น โรคต้อกระจก ที่ทำให้ตาบอดได้ ​โรคกระดูกพรุน กระดูกบางลง และหัก กล้ามเนื้อเนื้อลีบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เป็นต้น ดังนั้น การป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพองนี้จึงไม่ต่างไปจากการถูกโจรปล้นบ้าน ขโมยเงินหรือทรัพย์สิน พร้อมกับทำร้ายเจ้าของทรัพย์นั้นๆไปพร้อมๆกันทุกวันอย่างต่อเนื่องนานถึง 10-15 ปีจนเสียชีวิต

ผศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองนั้น จะมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำลงอย่างมาก ทั้งเจ็บตัวจากโรค เจ็บใจจากความทุกข์ทรมาน และจนลงจากทั้งการขาดงานของตนเองและญาติ และค่ารักษา ไม่ควรที่จะมีคนไทยรายใดป่วยด้วยโรคนี้อีกต่อไป ดังนั้น เพื่อป้องกันผู้ป่วยด้วยโรคนี้รายใหม่ในประเทศไทย อยากเรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดนี้ เห็นความสำคัญของสุขภาพคนไทยและเยาวชนไทย ร่วมสนับสนุนและอนุมัติ ร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. … ที่กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายสุขภาพกว่า 700 องค์กร ร่วมกับประชาชนจากทุกสาขาอาชีพกว่า 1 แสนคน ร่วมสนับสนุน หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะช่วยป้องกันไม่ให้เยาวชนไทยต้องตกเป็นทาสของบุหรี่และเป็นนักสูบหน้าใหม่ ตัดวงจรการเจ็บป่วย และทำให้ปอดถูกทำลายตั้งแต่ต้น ที่สำคัญจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศลงได้ไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาทในอีก 10 ปีข้างหน้า

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น