ออสเตรเลียเตือนระวังร้อนตับแลบหลายพื้นที่

ชาวออสเตรเลียได้รับคำเตือนให้พยายามอยู่ในที่ร่มและดื่มน้ำปริมาณมาก ในขณะที่อุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ในหลายส่วนของประเทศมีแนวโน้มที่จะคงที่หรืออาจเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่วันข้างวัน

หลายส่วนของนิวเซาท์เวลส์ รัฐที่มีประชากรมากที่สุดในออสเตรเลีย และพื้นที่หนึ่งของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย มีอุณหภูมิขั้นต่ำสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 33 องศาเซลเซียสเมื่อคืนวันอังคาร(15 มกราคม)

อุณหภูมิสูงสุดคาดว่าจะพุ่งเกินกว่า 45 องศาเซลเซียสในวันพุธ (16) ในหลายส่วนของรัฐนิวเซาท์เวลส์ เซาท์ออสเตรเลีย และวิกตอเรีย สำนักงานอุตุนิยมวิทยา ระบุ

“หลีกเลี่ยงกิจกรรมทางกายภาพ ดื่มน้ำให้มากเข้าไว้ มันมีความจำเป็นในเวลานี้” ริชาร์ด บรูม ผู้อำนวยการฝ่ายอนามัยสิ่งแวดล้อม ของรัฐบาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ กล่าว

สำหรับ 4 ใน 5 ของชาวออสเตรเลีย 25 ล้านคนที่อาศัยตามแนวชายฝั่ง ปกติฤดูร้อนจะหมายถึงการอาบแดดบนชายหาดและชมกีฬาคริกเก็ต

อย่างไรก็ตาม อุณหภูมิที่สูงอย่างผิดปกตินี้ทำให้ประเทศที่เพิ่งผ่านภาวะแห้งแล้งในปีที่ผ่านมากำลังเผชิญกับความสิ้นหวังเข้าไปอีก

“สภาพอากาศเช่นนี้เป็นข่าวร้ายสำหรับพืชผลฤดูร้อนอย่างข้าวฟ่าง” ฟิน ซีเบล นักเศรษฐศาสตร์ธุรกิจการเกษตร ของธนาคารกลางออสเตรเลีย กล่าว

“เกษตรกรชายฝั่งตะวันออกจำนวนมากยังคงเจ็บหนักจากผลผลิตข้าวสาลีฤดูหนาวที่ประสบปัญหาความแห้งแล้งเมื่อไม่นานมานี้”

ออสเตรเลีย ผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก เผชิญปัญหาผลผลิตตกต่ำติดต่อกัน 10 ปีในปีนี้เมื่ออากาศแห้งแล้งทำให้พืชผลเหี่ยวเฉา ด้วยสภาพทุ่งที่แห้งแล้งผิดปกติ ความเสี่ยงเกิดไฟไหม้ก็มากขึ้น

เจ้าหน้าที่ฉุกเฉินต้องต่อสู้กับเหตุไฟไหม้กว่า 100 ครั้งทั่วชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อปลายปีที่แล้ว เมื่อสภาพอากาศร้อนผิดปกติก่อให้เกิดเพลิงไหม้หลายระลอก

ขณะที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ยังต้องประกาศแผนปั๊มออกซิเจนลงสู่ทะเลสาบและแม่น้ำสายต่างๆ ภายหลังจากปลาตายนับล้านตัวจากคลื่นความร้อนจัด 

โดยคาดว่าปลาตายมากถึง 1 ล้านตัวลอยเกลื่อนเหนือผิวน้ำเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในแม่น้ำดาร์ลิงทางตะวันตกในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งยังพบปลาเน่าตายอีก 1,800 ตัวในทะเลสาบเลคฮูมทางภาคใต้   

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นแถลงว่า ได้จัดซื้อเครื่องเติมอากาศ 16 เครื่องเพื่อติดตั้งตามแหล่งน้ำในพื้นที่ประสบภัยแล้งต่างๆ  ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเป็นเพราะคลื่นความร้อนปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของออสเตรเลีย ส่งผลให้ภัยแล้ง และสาหร่ายเติบโตอย่างรวดเร็วจนแย่งออกซิเจนในน้ำ

ขณะที่ทางการปฏิเสธเสียงวิจารณ์ที่ว่าเจ้าหน้าที่ยอมให้มีการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำเมอร์เรย์-ดาร์ลิงซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญไปใช้มากเกินไป

นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำร่วมประชุมกันที่กรุงแคนเบอร์ราวันอังคารเพื่อหาแนวทางรับมือกับวิกฤตคุณภาพน้ำด้วย

ความคิดเห็น

comments