ก่อการร้ายนิวซีแลนด์ยังไม่จบ ปิดสนามบิน หลังพบสิ่งต้องสงสัย

สถานการณ์ก่อการร้ายโดยกลุ่มคนผิวขาวยังไม่ยุติ ล่าสุดตำรวจนิวซีแลนด์ต้องสั่งปิดท่าอากาศยานนานาชาติดะนีดิน (Dunedin airport) ในช่วงดึกวันอาทิตย์(17 มีนาคม)หลังจากทื่พบสิ่งต้องสงสัยอยู่ที่บริเวณลานบิน ส่งผลทำให้เที่ยวบินของสายการบินแอร์ นิวซีแลนด์ไม่สามารถลงจอดได้ และต้องกลับไปยังเวลลิงตัน เมืองต้นทางแทน

AFP รายงานวันอาทิตย์(17 มีนาคม)ว่า แถลงการณ์ที่ออกมามีใจความว่า “ท่าอากาศยานดะนีดิน(Dunedin airport) ในเวลานี้กำลังปิด” และกล่าวต่อว่า “ตำรวจกำลังอยู่ในที่เกิดเหตุและทีมเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญพิเศษได้ถูกส่งเข้ามาเพื่อตรวจดูสิ่งของต้องสงสัยนี้”

ตำรวจนิวซีแลนด์ออกแถลงการณ์สั่งปิดท่าอากาศยานในเวลา 21.55 น . ตามเวลาท้องถิ่นวันอาทิตย์ (17)

AFP รายงานว่านิวซีแลนด์ยังคงอยู่ในระหว่างการเตือนความปลอดภัยขั้นสูง เกิดขึ้นหลังจากมีมือปืนผิวขาวรายหนึ่งที่เชื่อว่าอาศัยอยู่ที่ดะนีดินได้บุกกราดยิงสังหารมัสยิด 2 แห่งที่เต็มไปด้วยผู้ที่เดินทางไปละหมาดวันศุกร์ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตแล้ว 50 คน โดยในวันเสาร์(16) ศาลนิวซีแลนด์ได้ออกคำสั่งให้ควบคุมตัวมือปืนไปจนถึงวันที่ 5 เมษายนนี้

เจ้าหน้าที่แอร์ นิวซีแลนด์ รายหนึ่งที่อยู่ในที่เกิดเหตุแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลได้กล่าวกับ AFP ว่า อาคารเทอร์มินอล “ไม่มี” การสั่งอพยพเกิดขึ้น

ทั้งนี้พบว่ามีเที่ยวบินไม่กี่เที่ยวบินที่มีกำหนดต้องเดินทางถึงเมืองทางตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ในขณะที่เกิดเหตุระทึกขวัญถึงสิ่งของลึกลับในช่วงดึก

Flightaware รายงานว่า เที่ยวบิน 691 ของสายการบินแอร์ นิวซีแลนด์ ที่ออกมาจากเวลลิงตันต้องบินวนเหนือเมืองเกือบ 1 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกบังคับให้ต้องบินกลับไปที่ต้นทาง

ด้านสำนักงานทางหลวงนิวซีแลนด์ ( New Zealand Transport Agency) รายงานว่า ถนนไฮเวย์เส้น 86 ซึ่งเป็นถนนเส้นหลักมุ่งหน้าสู่สนามบินได้ถูกปิด

สำหรับผู้ก่อการร้ายผิวขาว เบรนตัน แฮร์ริสัน ทาร์แรนต์ (Brenton Harrison Tarrant) ชาวออสเตรเลียวัย 28 ปี ได้รับใบอนุญาตพกปืน category A เมื่อเดือน พฤศจิกายน 2017 และในเดือนต่อมาก็เริ่มซื้อปืนทั้ง 5 กระบอก ซึ่งปืนเหล่านั้นถูกนำมาใช้ก่อการร้าย กราดยิงชาวมุสลิมขณะประกอบพิธีละหมาดวันศุกร์เมื่อวันศุกร์ที่ (15 มีนาคม) ผ่านมา

อาวุธปืนที่คนร้ายใช้ประกอบด้วย ปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ 2 กระบอก, ปืนสั้น 2 กระบอก และปืนแบบคานเหวี่ยง (lever-action) อีก 1 กระบอก

“ข้อเท็จจริงก็คือ บุคคลคนนี้มีใบอนุญาตพกปืนและนำมันไปซื้ออาวุธร้ายแรงเหล่านั้น ดิฉันเชื่อว่าประชาชนต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง และดิฉันจะทำให้สำเร็จ” นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ จาซินดา อาร์เดิร์น กล่าว

“ดิฉันบอกคุณได้เลยอย่างหนึ่งก็คือ กฎหมายควบคุมปืนของเราจะต้องถูกแก้ไข” เธอกล่าว

เบรนตัน ถูกนำตัวไปขึ้นศาลวันเสาร์ (16) ในสภาพถูกสวมกุญแจมือและใส่เครื่องแบบนักโทษสีขาว โดยระหว่างนั้นเขาได้หันไปมองสื่อมวลชน และทำสัญญาณมือ ‘โอเคกลับหัว’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่พวกเชื่อในพลังของคนผิวขาว (white power) ใช้กันทั่วโลก

ศาลได้ประกาศตั้งข้อหาฆาตกรรมและนัดไต่สวนอีกครั้งในวันที่ 5 เมษายน โดย เบรนตัน ไม่ได้ร้องขอประกันตัว

เหตุกราดยิงครั้งนี้ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตขณะนี้รวม 50 รายแล้วยังทำให้มีผู้บาดเจ็บอีก 42 คน หนึ่งในนั้นเป็นเด็กอายุเพียง 4 ขวบ ซึ่งนับว่าเป็นการโจมตีชาวมุสลิมในโลกตะวันตกครั้งเลวร้ายที่สุดในยุคสมัยใหม่

อาร์เดิร์น ยืนยันว่า มือปืนและผู้ต้องสงสัยสมรู้ร่วมคิดอีก 2 คนที่ถูกจับกุมแล้วเช่นกันไม่เคยถูกหน่วยข่าวกรองเพ่งเล็งมาก่อน แม้เจ้าตัวจะแถลงอุดมการณ์ผ่านสื่อออนไลน์ว่ามีแผนโจมตีชาวมุสลิมก็ตาม

“พวกเขาไม่มีชื่ออยู่ในบัญชีเฝ้าระวัง ไม่ว่าที่นี่หรือในออสเตรเลีย” เธอกล่าว พร้อมเสริมว่า “บุคคลซึ่งถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมไม่เคยเป็นที่สนใจของประชาคมข่าวกรองหรือตำรวจว่าอาจจะมีแนวคิดหัวรุนแรง”

“ดิฉันได้ออกคำสั่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช้าวันนี้(เสาร์ 16 มีนาคม)ให้เร่งประเมินว่ามีกิจกรรมบนโซเชียลมีเดียหรืออื่นๆ ที่ควรจะเร่งตอบสนองหรือไม่”

“แนวคิดหัวรุนแรงขวาจัดที่มาแรงทั่วโลกทำให้หน่วยข่าวกรองของเราต้องดำเนินการตรวจสอบในด้านนี้ให้เข้มงวดยิ่งกว่าเดิม”

รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้แก้กฎหมายจำกัดการเข้าถึงปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติเมื่อปี 1992 หลังมีชายสติไม่ดีก่อเหตุกราดยิงคนตาย 13 ศพที่เมืองอาราโมอานา (Aramoana) ทางตอนใต้

อย่างไรก็ตาม กฎหมายควบคุมปืนของนิวซีแลนด์ยังถือว่าหย่อนยานพอสมควรเมื่อเทียบกับออสเตรเลีย ซึ่งมีมาตรการควบคุมปืนอย่างเข้มงวดหลังเกิดเหตุสังหารหมู่คล้ายๆ กันในปี 1996 รวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ นอกจากสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบันนี้ บุคคลที่อายุเกิน 16 ปีสามารถขอใบอนุญาตพกปืนในนิวซีแลนด์ ซึ่งจะมีอายุใช้งาน 10 ปี หลังผ่านคอร์สอบรมการใช้ปืนและตรวจเช็คประวัติโดยตำรวจแล้ว

ตำรวจนิวซีแลนด์ยอมรับเมื่อปีที่แล้วว่า ไม่ทราบว่ามีปืนถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมายอยู่ในประเทศมากน้อยเท่าไหร่ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้บังคับให้ปืนส่วนใหญ่ต้องมีทะเบียน

ในปี 2014 ตำรวจนิวซีแลนด์ประเมินว่ามีปืนถูกกฎหมายราว 1.2 ล้านกระบอกอยู่ในการครอบครองของพลเรือน หรือประมาณ 1 ต่อ 4 คน มากกว่าจำนวนอาวุธปืนต่อหัวประชากรออสเตรเลีย 2 เท่า

ตำรวจและผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่มากมายที่ทำให้เจ้าของปืนสามารถหลบเลี่ยงไม่นำปืนกึ่งอัตโนมัติมาลงทะเบียน ขณะที่ อาร์เดิร์น ยืนยันว่ารัฐบาลจะพิจารณาสั่งแบนอาวุธปืนกึ่งอัตโนมัติ

เมื่อปี 1997 ตำรวจนิวซีแลนด์ได้จัดทำรายงานทบทวนกฎหมายอาวุธปืนซึ่งเรียกร้องให้มีการแบนอาวุธประเภทนี้ ทว่าความพยายามแก้กฎหมายในรัฐสภากลับไม่มีความคืบหน้ามาตั้งแต่ปี 1992

ความคิดเห็น

comments