ครอบครัวไทยแนวโน้มเปราะบาง ระบุรอบ 10 ปี หย่ามากขึ้น 23%

จิตแพทย์ ระบุชีวิตคู่ครอบครัวคนไทยแนวโน้มเปราะบาง ชี้ในรอบ 10 ปี ยอดการจดทะเบียนหย่าเพิ่มขึ้น 23% แค่ปี 57 หย่ามากถึง 111,810 คู่ เผยมาจากพื้นฐานครอบครัว 2 ฝ่าย ความอดทนน้อยลง ทั้งกดดันจากความเครียดการงาน ค่านิยมใหม่พึ่งลำแข้งตัวเอง แนะวิธีสร้างกาวใจ คงรสข้าวใหม่ปลามัน เสมอต้นเสมอปลาย ใช้คำพูด – การปฏิบัติที่เป็นกำลังใจกันและกัน อย่าพูดกันขณะอารมณ์ร้อน พร้อมแนะเทคนิค 3 อย่า ที่ควรใช้เพื่อการครองเรือน

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เนื่องในวันที่ 14 เมษายนของทุกปี ถือเป็นวันครอบครัว และช่วงนี้เป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ของไทย ครอบครัว ญาติพี่น้องได้มาอยู่รวมกัน โดยจากข้อมูลปี 2557 พบว่า ทั่วประเทศมีครัวเรือนประมาณ 22 ล้านครัวเรือน แต่ด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้สภาพครัวเรือนต่างจากอดีต ครอบครัวขยายที่มีพ่อ แม่ ลูก ปู่ ย่า พี่น้องอยู่ร่วมกันลดลง จำนวนครอบครัวเดี่ยว อยู่กันเฉพาะพ่อ แม่ ลูก มากขึ้น ครอบครัวไทยยุคใหม่จึงเปราะบางกว่าอดีต และน่าเป็นห่วง ทำให้เกิดปัญหาการแยกทาง หย่าร้างสูงขึ้น จากข้อมูลกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ล่าสุดในปี 2557 มีรายงานข้อมูล คู่จดทะเบียนสมรสใหม่ทั่วประเทศ 296,258 คู่ และมีคู่สมรสเก่าจดทะเบียนหย่า 111,810 คู่ การจดทะเบียนหย่าเพิ่มสูงกว่าปี 2547 หรือ 10 ปีที่ผ่านมา ถึงร้อยละ 23 สาเหตุการหย่าร้างพื้นฐานมาจากทั้ง 2 ฝ่าย ถูกกดดันทั้งจากความเครียดจากงานและค่านิยมใหม่การพึ่งลำแข้งตัวเอง ความอดทนจึงน้อยลง จึงคิดว่าไม่จำเป็นต้องพึ่งชีวิตคู่

พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อว่า ภายหลังจากหย่าร้างของสามีภรรยา จะพบว่าการเลี้ยงดูลูกด้วยตนเองเพียงลำพัง หรือเรียกว่าพ่อเลี้ยงเดี่ยวหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้บทบาทสามีภรรยายุติลงแล้ว แต่ยังต้องคงบทบาทความเป็นพ่อแม่ให้เข้มแข็ง ซึ่งปัจจุบันเด็กอาจจะเริ่มเข้าใจการไม่อยู่ร่วมกันของพ่อแม่ แต่เด็กก็หวังว่าจะได้รับการดูแลจากทั้งพ่อและแม่ เช่น ลูกอยู่กับใครเป็นหลัก ฝ่ายที่ดูแลลูกเป็นหลักควรเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายสามารถทำอะไรให้กับลูกบ้าง เช่น พบปะลูกโดยเสมอ มีกิจกรรมร่วมกันในโอกาสสำคัญ หรือให้วันสำคัญสำหรับลูก ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้รับความอบอุ่น ไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง มีที่พึ่ง ที่ไว้ใจในการปรึกษาปัญหาต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้อนาคตของเด็กและสังคมในอนาคตด้วย ผลสำรวจล่าสุดในปี 2555 พบว่าคนไทยทั่วประเทศอายุ 15 ปีขึ้นไป มีคะแนนความสุขในชีวิต ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญ คือ ความสุขในครอบครัว โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 7.17 คะแนน จากคะแนนเต็ม 9 คะแนน

“วิธีการสร้างกาวใจ ทำให้ครอบครัวน่าอยู่และมีความสุข เหมือนกับช่วงที่คนไทยเรียกกันติดปากว่าข้าวใหม่ปลามัน สามารถสร้างได้หลายวิธี อาทิ ทำงานบ้านร่วมกัน ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ทำสิ่งที่ผ่อนคลาย สนุกสนาน หรือกิจกรรมในโอกาสพิเศษของครอบครัวร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ เที่ยวงานประเพณี รดน้ำผู้สูงอายุ ที่สำคัญคือไม่หาความสุขที่สร้างปัญหาเพิ่มขึ้น เช่น ดื่มเหล้า เล่นการพนัน ควรใช้คำพูดที่ถนอมน้ำใจกัน พูดชื่นชมเมื่อทำสิ่งดีๆ ขอบคุณเมื่อได้รับเอื้อเฟื้อ ขอโทษเมื่อทำผิด ยิ้มแย้มให้กันอยู่เสมอ จะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในครอบครัว หากทุกคนในครอบครัวได้รับการดูแลสุขภาพจิต ให้มีจิตใจที่ดี อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ เมื่อมีปัญหาก็รู้จักวิธีปรับตัวปรับใจ ครอบครัวก็จะไม่มีปัญหา มีแต่ความสงบสุขมอบให้กัน หากเกิดความขัดแย้งกันในครอบครัว อย่าพูดกันขณะอารมณ์ร้อน ให้รอจังหวะให้อารมณ์สงบก่อน แล้วจึงค่อยพูดคุยกัน ผลัดกันแสดงความคิดเห็นเมื่อฝ่ายหนึ่งชี้แจง อีกฝ่ายควรรับฟัง พยายามหาทางออกในการแก้ปัญหาที่ส่งผลเสียต่อทุกคนน้อยที่สุด หากปัญหาแก้ไขได้ยาก ควรหาคนที่ครอบครัวให้ความนับถือช่วยให้คำแนะนำหาทางออก บางเรื่องที่อาจจะตกลงกันไม่ได้ ควรใช้วิธีขอร้องกัน” พญ.พรรณพิมล กล่าว

พญ.พรรณพิมล กล่าวด้วยว่า สำหรับเทคนิคการครองเรือนมีข้อแนะนำที่พึงปฎิบัติให้ยึด 3 อย่า คือ 1. อย่าจ้องจับผิด ควรมองส่วนที่ดีของคู่สมรส 2. อย่าคิดว่าตัวเองเก่ง ไม่มีเขาเราก็อยู่ได้ควรภาคภูมิใจในคุณความดีและคุณค่าของคู่สมรส 3. อย่าทำให้อีกฝ่ายหมดความอดทน ควรคิดถึงจิตใจของเขาบ้าง และเนื่องในวันครอบครัว ซึ่งเป็นวันสำคัญ อยากให้ครอบครัวใหม่และครอบครัวเดิม แสดงความรัก ความผูกพัน เอาใจใส่ต่อกัน เติมความสุขในพื้นที่ครอบครัว แม้สถานการณ์ทางสังคมจะเปลี่ยนไป มีความรุนแรงหรือกดดันมากขึ้นก็ตาม

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น