แพทย์เชี่ยวชาญเตือนเล่ห์บ.อาหาร ชี้เน้น’ออกกำลังกาย’ไม่ช่วยสู้’โรคอ้วน’

คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเตือน การออกกำลังกายแทบไม่มีบทบาทอะไรในการต่อสู้กับโรคอ้วน เพราะตัวการสำคัญคืออาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ พร้อมระบุว่าการที่ผู้คนเชื่อกันว่ากินอะไรก็ไม่เป็นไรถ้าหากออกกำลังกายนั้น เป็นเล่ห์กลโฆษณาชวนเชื่อของอุตสาหกรรมอาหาร ทางด้านตัวแทนของอุตสาหกรรมนี้ตอบโต้ว่า บทความนี้จะทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน พร้อมยืนยัน ไม่ได้โฆษณาเกินจริง แต่ไลฟ์สไตล์ที่ดีต่อสุขภาพควรครอบคลุมทั้งโภชนาการที่สมดุลและการออกกำลังกาย

ในบทบรรณาธิการของวารสารวิทยาการแพทย์ด้านกีฬาแห่งอังกฤษ (บริติช เจอร์นัล ออฟ สปอร์ตส์ เมดิซิน) ฉบับล่าสุด ซึ่งร่วมกันเขียนโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับระหว่างประเทศ 3 คน ได้กล่าวย้ำเตือนว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้อง “ทำลายมายาภาพ” เกี่ยวกับการออกกำลังกาย เนื่องจากแม้การออกกำลังกายมีส่วนสำคัญในการป้องกันโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคสมองเสื่อม แต่กลับมีผลน้อยมากในการต่อสู้กับโรคอ้วน ซึ่งสาเหตุสำคัญคือการบริโภคแป้งและน้ำตาลมากเกินไป

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้ ซึ่งรวมถึง น.พ.อาซีม มัลฮอทรา แพทย์โรคหัวใจในลอนดอน กล่าวโทษอุตสาหกรรมอาหารที่ส่งเสริมความเชื่อที่ว่า การออกกำลังกายสามารถจัดการกับผลกระทบจากการกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพได้

ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ถึงขั้นวิจารณ์ว่า เทคนิคนี้ “พ้องกันอย่างน่าขนลุก” กับเทคนิคที่ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมบุหรี่ใช้ และสำทับว่า ควรต้องเลิกการให้พวกเซเลบฯออกมาโฆษณาประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล รวมทั้งควรต้องยุติการนำเอาอาหารขยะมาเชื่อมโยงกับกีฬาต่างๆ

แพทย์เหล่านี้ระบุว่า มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า 40% ของผู้ที่มีน้ำหนักปกติ แท้จริงแล้วซ่อนเร้นความผิดปกติในด้านการเผาผลาญอาหาร ที่เป็นอันตรายซึ่งมักเชื่อมโยงกับโรคอ้วน

ทว่า ถึงแม้มีประกาศเตือนด้านสาธารณสุขที่มุ่งเน้นให้ประชาชนควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เป็นโรคอ้วน โดยผ่านการคำนวณปริมาณแคลอรี่ของอาหารที่รับประทานเข้าไปในแต่ละวัน แต่ประกาศเตือนเหล่านี้กลับไม่ได้ชี้ให้เห็นว่า แคลอรี่เหล่านั้นมาจากอาหารประเภทไหน นั่นแหละเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยที่มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า น้ำตาลหรือไขมันที่ให้ปริมาณจำนวนแคลอรี่เท่าๆ กัน 150 แคลอรี่นั้น แคลอรี่จากน้ำตาลกลับทำให้เป็นโรคเบาหวานมากกว่าถึง 11 เท่า

ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้ยังอ้างอิงหลักฐานจากโครงการศึกษาทั่วโลกของ “แลนซิท” วารสารการแพทย์ชื่อดังของอังกฤษ ที่แสดงให้เห็นว่า การกินอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ มีบทบาทต่อสุขภาพที่เสื่อมลง มากยิ่งกว่าการออกกำลังกาย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการสูบบุหรี่รวมกัน

น.พ.มัลฮอทรากล่าวว่า ผู้ที่เป็นโรคอ้วนไม่จำเป็นที่จะต้องพยายามออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก แต่ควรเน้นการรับประทานอาหารให้น้อยลงมากกว่า

“สิ่งที่ผมเป็นกังวลมากที่สุดก็คือ มีการส่งข้อความออกมาอย่างไม่ขาดสายต่อสาธารณชน ซึ่งบ่งชี้ว่า คุณสามารถกินตามใจปากได้ตราบที่ยังลุกขึ้นมาออกกำลังกาย” น.พ.มัลฮอทรา บอก และกล่าวต่อไปว่า “นั่นเป็นข้อมูลที่ผิดและไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ คุณไม่มีทางเอาชนะอาหารเลวๆ ที่รับประทานเข้าไปได้”

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ มองว่า เป็นการเสี่ยงเกินไปในการลดทอนบทบาทของการออกกำลังกาย

ศาสตราจารย์มาร์ก เบเกอร์ จากสถาบันแห่งชาติเพื่อสุขภาพและการดูแลรักษาอันยอดเยี่ยม (เนชันแนล อินสติตุต ออฟ เฮลธ์ แอนด์ แคร์ เอ็กเซลเลนซ์) แนะนำให้กินอาหารที่สมดุลควบคู่กับการออกกำลังกาย และเสริมว่า เป็นการ “โง่เขลา” ที่จะลิดรอนความสำคัญของการออกกำลังกาย

ทางด้านเอียน ไรต์ ผู้อำนวยการใหญ่ของสหพันธ์อาหารและเครื่องดื่มแย้งว่า ประโยชน์จากการออกกำลังกายไม่ใช่การโฆษณาเกินจริงหรือการสมรู้ร่วมคิดของอุตสาหกรรมอาหาร แต่ไลฟ์สไตล์ที่ดีต่อสุขภาพนั้นครอบคลุมทั้งโภชนาการที่สมดุลและการออกกำลังกาย

เขาบอกอีกว่า อุตสาหกรรมอาหารในอังกฤษส่งเสริมโภชนาการที่สมดุล ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์อาหารโดยสมัครใจ รวมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ แต่มีน้ำตาล เกลือ และไขมันต่ำ

“ดูเหมือนบทความนี้ต้องการบ่อนทำลายที่มาของคำแนะนำด้านสุขภาพของรัฐบาลที่มีหลักฐานอ้างอิง ซึ่งแน่นอนว่า จะทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน” เขาตอบโต้

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น