ครม.แก้ปัญหาลอบเข้าเมือง จัดหาที่พักระยะยาวที่ปทุมธานี

ครม.มีมติจัดพื้นที่ในอ.คลองหลวง ปทุมธานี เพื่อแก้ปัญหาระยะยาวในการจัดหาที่พักให้ผู้ลักลอบเข้าเมือง ในระยะสั้นจัดที่พักในเรือนจำชั่วคราวหลังสี่รองรับได้ 450 คน พม.เผยยังมีเหยื่อค้ามนุษย์อยู่ในความดูแล 174 คน พร้อมประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อแก้ปัญหาต่อเนื่อง

โดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 ในส่วนประเด็นความคืบหน้าการหาพื้นที่ควบคุมผู้อพยพแห่งใหม่
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รายงานความคืบหน้าการหาพื้นที่ควบคุมผู้อพยพแห่งใหม่

ซึ่งกระทรวง พม. รายงานว่า
1. ปัจจุบันสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ได้ให้การดูแลจำนวนกลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมือง รวมทั้งสิ้น 638 คน เป็นชาวโรฮีนจา จำนวน 363 คน และชาวมุสลิมไม่ทราบสัญชาติ (อุยกูร์) จำนวน 275 คนและมีสถานที่ควบคุม (ห้องกัก) จำนวน 11 แห่ง ปัญหาที่พบคือจำนวนสถานที่ควบคุมไม่เพียงพอรองรับผู้ลักลอบเข้าเมืองในปริมาณที่เต็มขีดความสามารถ สภาพห้องไม่มั่นคงแข็งแรง คับแคบ รวมทั้งงบประมาณ และกำลังพลไม่เพียงพอ โดย สตม. ได้มีแผนในการแก้ไขปัญหาการจัดหาสถานที่ควบคุมแห่งใหม่ แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้

  1. ระยะเร่งด่วน ได้จัดพื้นที่รองรับมุสลิมไม่ทราบสัญชาติ (อุยกูร์) ณ พื้นที่บริเวณสถานควบคุมพิเศษ กองบัญชาการตำรวจสันติบาล (เรือนจำชั่วคราวหลักสี่) ถนนวิภาวดี กรุงเทพฯ สามารถรองรับได้ ประมาณ 450 คนซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในเดือนกรกฎาคม 2558 โดยได้รับอนุมัติงบประมาณแล้ว จำนวน 9,980,000 บาท จากคณะกรรมการบริหารกองทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของตำรวจ
  2. ระยะยาว ได้จัดพื้นที่รองรับกลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมือง ณ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี สามารถรองรับผู้ต้องกักได้ จำนวน 2,000 คน อยู่ระหว่างขอรับการสนับสนุนงบประมาณงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจากรัฐบาล

2. ในส่วนของ พม. ปัจจุบันได้ให้การดูแลกลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมืองที่เป็นเด็ก ผู้หญิง และกลุ่มที่เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ รวมทั้งสิ้น 174 คน เป็นผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวโรฮีนจา จำนวน 139 คน และชาวมุสลิมไม่ทราบสัญชาติ (อุยกูร์) จำนวน 35 คน มีสถานที่คุ้มครองหลัก จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา และสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพภาคใต้ (บ้านศรีสุราษฎร์) ปัญหาที่พบคือ สถานที่ดังกล่าวเปิดตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับให้บริการประชาชนที่ประสบปัญหาทางสังคม จึงทำให้กลุ่มคนดังกล่าวหลบหนีได้ง่าย รวมทั้งงบประมาณ และกำลังพลไม่เพียงพอ

3. ในการดำเนินการเพื่อการแก้ไขปัญหาชาวโรฮีนจาและกลุ่มมุสลิมไม่ทราบสัญชาติ (อุยกูร์) และการจัดหาสถานที่ควบคุมกลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมืองแห่งใหม่ พม. ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ ดังนี้

  1. การติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาชาวโรฮีนจา และกลุ่มมุสลิมไม่ทราบสัญชาติ (อุยกูร์) โดยจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มท. กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ตช. บก.ทท. และกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2558 ณ ห้องประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อทบทวนข้อมูลและหาวิธีในการดำเนินงานเรื่องการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การดูแลควบคุม และการจัดหาพื้นที่ใหม่ ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้การปฏิบัติงานยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ ส่วนการผลักดัน การสกัดกั้น และการเข้าประเทศของกลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมือง รวมถึงการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับประเทศจีน ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินงานตามภารกิจอย่างเคร่งครัด และในการจัดหาพื้นที่ในระยะยาว โดยให้ กอ.รมน. พิจารณาพื้นที่ควบคุมผู้ลักลอบเข้าเมือง โดยขอให้ยึดกรอบและระยะเวลาการทำงานที่ชัดเจน
  2. การจัดการสถานที่ควบคุมกลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมืองแห่งใหม่ในมาตรการระยะยาว ได้จัดประชุมหารือร่วมกับผู้แทนจาก ตช. ประกอบด้วย สตม. สำนักงานตำรวจสันติบาล กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช. ตชด.) และสำนักงานส่งกำลังบำรุง เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558 เนื่องจากพื้นที่ของกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อยู่ในเขตชุมชน โดยมอบหมายให้ สตม. และ บช.ตชด. ร่วมกันพิจารณาหาพื้นที่ใหม่ที่เหมาะสม และให้ พม. เพิ่มมาตรการที่เหมาะสมในการควบคุมผู้ลักลอบเข้าเมืองที่อยู่ในความดูแลด้วย

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น