ผู้อพยพร่วม 2 พันขึ้นฝั่งมาเลย์-อินโดฯ ห่วงอีก 6 พันยังถูกกักอยู่ในเรือกลางทะเล หลังไทยปราบค้ามนุษย์หนัก

ผู้อพยพทางเรือที่เป็นชาวโรฮิงญาและชาวบังกลาเทศรวมเกือบๆ 2,000 คน ได้รับการช่วยเหลือขึ้นฝั่งในมาเลเซียและอินโดนีเซียในช่วง 2 วันที่ผ่านมา หลังจากที่พวกลักลอบค้ามนุษย์ได้ละทิ้งเรือที่พวกเขาโดยสารมา และปล่อยให้พวกเขาต้องเอาชีวิตรอดด้วยตนเอง เจ้าหน้าที่ ระบุในวันจันทร์ (11พ.ค.) ขณะที่ผู้รับผิดชอบและนักเคลื่อนไหวด้านผู้อพยพเตือนว่า ยังมีผู้คนอีก 6,000 คนติดอยู่ในเรือไม้ลำใหญ่น้อยอย่างแออัด โดยที่อาหารและน้ำที่มีอยู่กำลังลดลงไปทุกที

ด้วยความหวั่นเกรงว่าเรือเหล่านั้นจะเริ่มถูกซัดขึ้นสู่ฝั่งพร้อมด้วยร่างที่ไร้ชีวิต สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR), สหรัฐฯ, และรัฐบาลต่างประเทศอีกหลายๆ ชาติ ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศหลายๆ แห่ง ได้จัดการประชุมหารือฉุกเฉินขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่พวกที่เข้าร่วมกล่าวว่า ยังไม่มีแผนการในเฉพาะหน้านี้ที่จะค้นหาเรือบรรทุกผู้อพยพเหล่านี้ ซึ่งน่าจะอยู่ในบริเวณช่องแคบมะละกา ที่การจราจรทางน้ำคึกคักหนาแน่น

ผู้ที่เข้าร่วมหารือหลายๆ รายซึ่งขอให้สงวนนามกล่าวว่า ปัญหาหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาก็คือ ถ้าเริ่มดำเนินการช่วยเหลือหาเรือเหล่านี้แล้ว จะจัดการอย่างไรต่อไปกับชาวโรฮิงญาซึ่งช่วยออกมาได้

“ณ จุดนี้ ดิฉันไม่แน่ใจเลยว่าก้าวเดินรูปธรรมก้าวต่อไปจะเป็นอย่างไร หรือควรจะเป็นอย่างไร” วิเวียน ตัน เจ้าหน้าที่แถลงข่าวส่วนภูมิภาคประจำสำนักงานกรุงเทพฯของ UNHCR กล่าว “มีความรู้สึกกันว่านี่เป็นเรื่องเร่งด่วนจริงๆ แต่ก็ดูไม่มีกลไกที่ชัดเจนในภูมิภาคนี้ที่จะตอบสนองต่อปัญหาแบบที่กำลังเกิดขึ้นมานี้”

ยิ่งกว่านั้น เธอบอกว่า ยังจำเป็นที่จะต้องได้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า เรือเหล่านี้อยู่ที่ไหนกันบ้าง และมีคนอยู่บนเรือจำนวนเท่าใด

ทางด้านพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของอินโดนีเซียแจ้งว่า พวกเขาจับเรือที่ล่วงล้ำแดนเข้ามาได้ลำหนึ่งที่บริเวณนอกชายฝั่งของอาเจะห์ จังหวัดซึ่งอยู่บริเวณชายฝั่งตอนเหนือของเกาะสุมาตรา เมื่อตอนเช้าวันจันทร์ (11) โดยบนเรือมีคนอย่างน้อย 400 คน

ก่อนหน้านั้นในวันอาทิตย์ (10) กลุ่มผู้อพยพ 573 คนก็เดินทางมาถึงอาเจะห์ บนเรือ 4 ลำ และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ผู้อพยพทั้งสิ้น 1,018 คนได้ขึ้นฝั่งบนเกาะลังกาวี ของมาเลเซียด้วยเรือ 3 ลำ

การเดินทางเข้ามาเป็นระลอกใหญ่เช่นนี้ บังเกิดขึ้นในขณะที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดแวะพักสำคัญจุดหนึ่งบนเส้นทางการลักลอบค้ามนุษย์สายหลักของเอเชีย ดำเนินการปราบปรามกวาดล้างอย่างต่อเนื่อง ภายหลังค้นพบหลุมศพหมู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งเผยให้เห็นขนาดขอบเขตของการค้าหฤโหดที่สร้างกำไรอย่างมหาศาลนี้

ทั้งนี้ในแต่ละปี มีชาวมุสลิมโรฮิงญา -ชนกลุ่มน้อยซึ่งรัฐบาลพม่ากดขี่ และชาวบังกลาเทศผู้ยากไร้เป็นจำนวนนับพันนับหมื่นคน เดินทางไปตามเส้นทางของพวกแก๊งค้ามนุษย์ ซึ่งผ่านทะเลและแผ่นดิน ซอกซอนผ่านไทย และเข้าสู่มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ตลอดจนดินแดนไกลโพ้นจากนั้น

จามิล อะห์หมัด รองผู้กำกับการตำรวจของเกาะลังกาวี บอกกับเอพีว่า กลุ่มผู้อพยพที่ถูกรับตัวขึ้นมาเมื่ออาทิตย์ (10) ประกอบด้วยชาย 865 คน , เด็ก 52 คน และผู้หญิง 101 คน เขาบอกด้วยว่า ตำรวจได้พบเรือไม้ขนาดใหญ่ลำหนึ่งติดทรายอยู่ในพื้นที่น้ำตื้นที่ชายหาดแห่งหนึ่งในเกาะลังกาวี ซึ่งสามารถบรรทุกคนได้ 350 คน และเสริมว่า นี่แสดงว่ามีเรืออยู่อีกอย่างน้อย 2 ลำ แต่ยังหาไม่ได้ว่าอยู่ที่ไหน

เขา กล่าวว่า ชายชาวบังกลาเทศรายหนึ่งบอกกับตำรวจว่า พอมาถึงชายฝั่งมาเลเซีย พวกคนบังคับเรือก็บอกทิศทางที่พวกเขาจะต้องไปต่อ และจากนั้นคนพวกนั้นก็หลบหนีไปกับเรือลำอื่น

ผู้อพยพรายนี้ กล่าวว่า พวกเขาไม่ได้กินอาหารมา 3 วันแล้ว จามิล เล่า และเสริมว่า พวกเขาส่วนใหญ่อ่อนแอและผ่ายผอม

“เราเชื่อว่าน่าจะมีเรือเข้ามาอีก” จามิล กล่าว

ส่วนทางด้านสตีฟ แฮมิลตัน จากองค์การเพื่อผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศในกรุงจาการ์ตา กล่าวว่า เมื่อเรือขนผู้อพยพ 4 ลำเข้าใกล้กับชายฝั่งของอินโดนีเซียในวันอาทิตย์ (10) ผู้โดยสารบางคนกระโดดลงน้ำและว่ายน้ำเข้ามา

พวกเขาถูกพาไปยังสนามกีฬาแห่งหนึ่งในเมืองลกซูค็อน เมืองเอกของเขตปกครองอาเจะห์เหนือ เพื่อรับการพยาบาลและซักถาม พ.ท.อัชมาดี ผู้กำกับการตำรวจในท้องที่นี้ กล่าว

พวกเขาบางคนที่ป่วยและทรุดโทรมหลังจากอยู่กลางทะเลนานกว่า 2 เดือนกำลังรับการรักษาทางการแพทย์

“เราไม่มีอะไรกินเลย” ราชิด อาห์เหม็ด ชาวโรฮิงญาวัย 43 ปีที่เคยอยู่บนหนึ่งในเรือเหล่านั้น กล่าว และบอกว่า เขาออกมาจากรัฐยะไข่ของพม่าพร้อมกับลูกชายคนโตเมื่อ 3 เดือนก่อน

คริส ลีวา ผู้อำนวยการโครงการอารากัน ซึ่งเฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวของชาวโรฮิงญามากว่าสิบปี ระบุว่า ในตอนนี้มีคนราว 7,000 – 8,000 คนกำลังถูกพวกแก๊งค้ามนุษย์กักกันอยู่ในเรือลำใหญ่ลำน้อยในบริเวณช่องแคบมะละกาและน่านน้ำสากลใกล้เคียง พร้อมเสริมว่า การปราบปรามขบวนการลักลอบค้ามนุษย์ในไทยและมาเลเซียทำให้พวกนายหน้าไม่กล้าพาพวกเขามาส่งยังชายฝั่งได้

บางคนถูกจับทั้งๆ ที่สมาชิกในครอบครัวจ่ายเงินให้พวกเขาได้รับการปล่อยตัวจากเรือแล้ว

“ดิฉันเป็นห่วงมากเรื่องที่กลุ่มผู้ลักลอบขนคนเข้าเมืองทิ้งผู้โดยสารไว้กลางทะเล” ลีวา กล่าว พร้อมระบุว่า บางคนถูกทิ้งไว้นานกว่า 2 เดือน

เนื่องจากเข้าถึงอาหารและน้ำสะอาดได้อย่างจำกัด อีกทั้งถูกควบคุมอย่างเข้มงวด สุขภาพของพวกเขาจึงกำลังทรุดโทรม ลีวา กล่าว และเสริมว่า มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย

ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางสำหรับขบวนการลักลอบค้ามนุษย์ในภูมิภาคมานานแล้ว

กลวิธีของพวกนายหน้าและเอเย่นต์เริ่มเปลี่ยนไปในเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากทางการไทยได้เริ่มยกระดับการรักษาความปลอดภัยทางบกให้แน่นหนาขึ้น ความเคลื่อนไหวของฝ่ายไทยซึ่งชัดเจนว่ามีจุดประสงค์เพื่อทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ พออกพอใจ เนื่องจากวอชิงตันเตรียมที่จะออกรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons report) ประจำปีของตนในเดือนธันวาคม โดยเมื่อปีที่แล้ว ประเทศไทยถูกลดระดับสู่ระดับต่ำสุด เทียบเท่ากับเกาหลีเหนือและซีเรีย

ผู้อพยพที่ถูกยัดลงเรือมาจากอ่าวเบงกอลนั้น นอกจากชาวโรฮิงญาแล้ว ยังมีชาวบังกลาเทศที่หลบหนีจากความยากจน และหวังว่าจะได้พบชีวิตที่ดีขึ้นในที่อื่นๆ โดยที่กลุ่มนี้กำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

i-News Daily 58-05-12-299m

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น