รบ.มาเลย์ พร้อมเจรจา รมต.ไทย-อินโด รับมือโรฮิงญา

มาเลเซียกล่าววันจันทร์นี้ว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของตนกำลังจะพบกับผู้ร่วมตำแหน่งจากไทยและอินโดนีเซีย ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ วันพุธนี้ เพื่อหารือการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ หลังจากผู้แสวงหาการลี้ภัยที่สิ้นหวังจำนวนหลายพันคน ไปถึงฝั่งของมาเลเซียในช่วงหลายสัปดาห์มานี้

แต่รัฐบาลประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างแสดงให้เห็นท่าทีเพียงน้อยนิด เกี่ยวกับร่วมกันสนองตอบผู้อพยพชาวบังกลาเทศ กับชาวโรงฮิงยาจากพม่า ที่มากันเต็มลำเรือเข้าสู่น่านน้ำ ผู้อพยพราว 2,500 คน ได้ขึ้นบกที่มาเลเซียและอินโดนีเซียในช่วงกว่าสัปดาห์มานี้ อีกราว 5,000 คน ยังคงลอยลำอยู่ในทะเล บนเรือเก่าที่โคลงเคลงและง่อนแง่น กับ
อาหารและน้ำดื่มที่ร่อยหรอลง

มาเลเซีย อินโดนีเซียกับไทย ต่างผลักเรือกลับออกไป หรือ ลากจูงเรือที่เต็มไปด้วยผู้อพยพออกไปให้ห่างไกลจากฝั่งของตน อันเป็นสิ่งองค์การเพื่อผู้อพยพระหว่างประเทศ (International Organization for Migration) เรียกว่า “การเล่นปิงปองในทะเลด้วยชีวิตมนุษย์”

การพบปะระหว่าง รมว.ต่างประเทษมาเลเซียกับอินโดนีเซีย แต่เดิมกำหนดจะมีขึ้นในวันจันทร์นี้ ได้เลื่อนออกไปเป็นวันพุธ เพื่อให้ รมว.ต่างประเทศไทยได้เข้าร่วมด้วย เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียกล่าว

การพบปะหารือจะเน้นไปที่การค้ามนุษย์กับการลักพาตัวผู้คนในภูมิภาค กระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง

“มาเลเซียจะแสวงหาวิธีแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ผ่าน.. ความพยายามร่วมกันและประสานกันระหว่างประเทศที่เป็นต้นตอ ทางผ่านและปลายทาง” คำแถลงระบุ ส่วนเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศไทยและอินโดนีเซียยังไม่ได้ให้ความเห็นใดๆ ในขณะนี้ เกี่ยวกับสิ่งที่คาดหวังจะได้ออกมาจากการพบหารือ

หน่วยงานผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติกล่าวว่า ในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้ มีชาวบังกลาเทศกับชาวโรฮิงยาราว 25,000 คน เดินทางโดยเรือของพวกผู้ลักลอบขนคน เป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นสองเท่าจากช่วงเดียวกันของปี 2557

การปราบปรามกวาดล้างของรัฐบาลทหารของไทย ได้ทำให้การลักลอบเข้าสู่ดินแดนมาเลเซีย ซึ่งมีเศษฐกิจร่ำรวยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทางบกนั้นเสี่ยงเกินไปสำหรับเหล่าอาชญากร ที่หากินกับโรฮิงยาผู้หนีการกดขี่ปราบปรามจากพม่า ที่มีชาวพุทธเป็นประชากรส่วนใหญ่ กับชาวบังกลาเทศที่แสวงหาความเป็นอยู่ที่ดีกว่าในต่างแดน

มาเลเซียซึ่งกล่าวว่า ตนเองได้รับเอาผู้อพยพผิดกฎหมายจากพม่า 120,000 คน ไว้ในขณะนี้ ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจะไม่ยอมรับอีกแล้ว และ จะผลักไสเรือบรรทุกผู้อพยพออกไป

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นประเทศประธานกลุ่มสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในปัจจุบัน มาเลเซียกำลังเป็นผู้นำดำเนินความพยายามทางการทูต ต่อวิกฤติการในภูมิภาค

“หากจำเป็นเราก็จะเรียกประชุมฉุกเฉิน (อาเซียน)” นายอานิฟาห์ อามาน รมว.ต่างประเทศมาเลเซียกล่าว หลังพบหารือกับคู่ตำแหน่งจากบังกลาเทศเมื่อวันอาทิตย์

“ในฐานะประธานกลุ่มอาเซียน มาเลเซียจะหารือเรื่องนี้ในเชิงลึก และ หวังว่าพม่าจะเข้าร่วมหาทางแก้ไขด้วยกัน ก่อนที่ปัญหานี้จะถูกนำไปสู่ปัญหาระดับระหว่างประเทศ” นายอามานกล่าว

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น