เตือนคนไทยในเกาหลี พร้อมดูแลฮุจญาต “ฮัจญ์-อุมเราะห์” เฝ้าระวัง MERS

สถานทูตไทยในเกาหลีใต้ ประกาศเตือนคนไทยในเมืองแดจอน และพื้นที่ใกล้เคียง เลี่ยงไปที่สาธารณะ สกัดติดเชื้อโรคเมอร์สโควี ด้าน สธ.ยึดมาตรการ “อีโบลา” ใช้เฝ้าระวังโรคเมอร์สโควี พร้อมดูแลเฝ้าระวังชาวไทยมุสลิมที่เดินทางร่วมประกอบ”พิธีฮัจญ์ – อุมเราะห์”

วันนี้ (3 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีรายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2012 หรือเมอร์สโควี ที่ประเทศเกาหลีใต้ ล่าสุด สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ได้ออกประกาศเตือนชาวไทยในเกาหลีใต้ โดยเฉพาะคนที่อาศัยในเมืองแดจอน และพื้นที่ใกล้เคียงให้เพิ่มความระมัดระวังตัว หลีกเลี่ยงการอยู่ที่สาธารณะ ซึ่งอาจเป็นแหล่งติดเชื้อได้ หมั่นล้างมือให้สะอาด ใช้หน้ากากอนามัยปิดปากและจมูก เมื่อมีอาการไอ จาม หากเป็นไข้ให้พบแพทย์ทันที หากสงสัยว่ามีบุคคลในครอบครัวติดเชื้อดังกล่าว นอกจากพบแพทย์แล้วให้แจ้งสถานเอกอัครราชทูตฯด้วย

สำหรับประเทศไทย กรมควบคุมโรค (คร.) ได้มีการประชุมเตรียมความพร้อมรับมือโรคดังกล่าว ร่วมกับ รพ.รามาธิบดี รพ.กลาง กทม. รพ.เอกชน รพ.ศิริราช กรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รพ.พระมงกุฎเกล้าฯ กระทรวงกลาโหม โดย นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดี คร. ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุม ว่า ขณะนี้มีรายงานพบผู้ป่วยเมอร์สโควีในเกาหลีใต้ 30 ราย เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้ที่ต้องเฝ้าระวังติดตามอาการ เนื่องจากมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยอีกประมาณ 700 – 800 ราย ซึ่งถือว่ามีระบบในการจัดการโรคได้ดี ผู้ป่วยทั้งหมดอยู่ในห้องแยก นอกจากนี้ ยังมีการประกาศเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยง เช่น สวนสาธารณะ เป็นต้น ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อห้ามในการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด ส่วนประเทศไทยจะดูบทเรียนที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ เนื่องจากการติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในโรงพยาบาล เพราะกว่าผู้ป่วยคนแรกจะได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ ก็มีการไปรักษาใน 3 คลินิก 1 โรงพยาบาล จึงมีผู้สัมผัสโรคจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งแพทย์ และพยาบาลติดเชื้อด้วยเช่นกัน

นพ.โสภณ กล่าวว่า เบื้องต้นประเทศไทยจะนำเอางบประมาณ และมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดเชื้ออีโบลามาใช้ในการป้องกันโรคเมอร์สโควี คือ 1. การเฝ้าระวังผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเดินทางกลับจากประเทศตะวันออกกลาง และประเทศที่มีการระบาด เช่น ป่วยในช่วงระยะเวลา 14 วัน ปอดบวมรุนแรง เป็นกลุ่มก้อน โรคทางเดินหายใจ 2. การตรวจวินิจฉัยโรคทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งขณะนี้สามารถทำได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกแห่ง และ 3. การดูแลรักษาใน รพ.รัฐ – เอกชน โดยวันที่ 4 มิ.ย. จะนำข้อสรุปมาตรการเฝ้าระวังโรคเมอร์สโควี รายงานให้ รมว.สาธารณสุข ทราบ และจะมีการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขทั่วประเทศเพื่อทราบแนวทางในการป้องกันโรคนี้ต่อไป

“นอกจากนี้ จะติดตามผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ด้วย ซึ่งจะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคก่อนไป มีทีมแพทย์คอยดูแลในพื้นที่ และขอความร่วมมือสำนักจุฬาราชมนตรี และบริษัทเอเยนซี เพื่อขอรายชื่อผู้ที่จะเดินทางไปทำอุมเราะห์ ที่ประเทศแถบตะวันออกกลาง เพื่อติดตามเฝ้าระวังป้องกันโรคต่อไป ดยขอแนะนำทั้ง 2 กลุ่มหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังฟาร์มเลี้ยงสัตว์ งดการสัมผัสกับอูฐหรือดื่มนมอูฐดิบ ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ และหลังเดินทางกลับมาแล้วจะต้องติดตามเฝ้าระวังต่อในระยะ 14 วัน ซึ่งเป็นระยะฟักตัวของโรค รวมถึงกลุ่มอื่นๆ ที่ต้องเดินทางไปในพื้นที่ตะวันออกกลางระหว่างนี้ใครที่ป่วยอยู่ในช่วง 14 วันต้องรีบมาพบแพทย์ และแจ้งประวัติการเดินทางด้วยซึ่งสำคัญมาก” อธิบดี คร. กล่าว

i-News Daily 58-06-04-322m

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น